วันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

บทที่ 4
วิถีปฏิบัติของชาวคริสต์
“คริสตชนปฏิบัติตนอย่างไร?”

แผนการความรอดพ้นของพระเจ้าซึ่งมีพื้นฐานจากการเผยแสดงของพระเยซูคริสตเจ้า ผ่านทางพระคัมภีร์ (พันธสัญญาเดิม พันธสัญญาใหม่) และการอธิบาย ที่สรุปออกเป็นหลักคำสอน (ข้อเชื่อ) ของศาสนาคริสต์ ไม่ได้เป็นแค่อุดมคติหรือหลักการ แต่เน้นการนำไปปฏิบัติในชีวิตเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับมนุษยชาติ และการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งแสดงออกในเรื่องพิธีกรรม (การภาวนาและพิธีกรรม) และการประพฤติปฏิบัติตนตามแนวทางที่ถูกต้อง ตามแนวทางพระบัญญัติแห่งความรักและความช่วยเหลือของพระเจ้า ที่ประทานพระพรแก่มนุษยชาติเพื่อความรอดพ้นพ้น (กฎเกณฑ์และพระหรรษทาน) ทั้งนี้ การนำเรื่องวิถีปฏิบัติ (หลักปฏิบัติ) ของคริสตชน จะยึดแนวทางจากเอกสารคำสอนทางการของศาสนาคริสต์ นิกายโรมัน คาทอลิก (Catechism of the Catholic Church (CCC), 1994) เป็นหลักในการนำเสนอเนื้อหา

1. การภาวนาและพิธีกรรม

การภาวนาของคริสตชนดำเนินตามธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ยุคอัครสาวก ซึ่งมีพื้นฐานจากพระคัมภีร์ที่ให้ความสำคัญต่อการสร้างสัมพันธ์กับพระเจ้าตามรูปแบบของพระเยซูคริสตเจ้า ด้วยการอธิษฐานภาวนา โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่การร่วมในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้คริสตชนเป็นหนึ่งเดียวกันในการบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า

1.1 การภาวนา

1.1.1 คุณค่าและความหมาย

การภาวนา คือ “การยกจิตใจขึ้นไปหาพระเจ้า” (CCC, 1994: 2590) เป็นการสนทนากับพระเจ้าในนามของพระเยซูคริสตเจ้า (CCC, 1994: 2614) ภายใต้การนำของพระจิตเจ้า ด้วยความเชื่อ ความหวังและความรักในพระเจ้าเป็นพื้นฐาน (CCC, 1994: 2607) ด้วยความตั้งใจจริงที่จะตอบรับด้วยการให้ความร่วมมือกับแผนการแห่งความรอดพ้นของพระเจ้า (CCC, 1994: 2611) โดยมีท่าทีของความสุภาพ ถ่อมตนต่อพระเจ้า โดยมีจุดหมายเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับพระองค์ ผู้โปรดประทานพระพรแห่งความรอดพ้นแก่มนุษยชาติ จากธรรมเนียมปฏิบัติของคริสตชน ได้ให้ความหมายของภาวนาว่าหมายถึง (CCC, 1994: 2626 – 2643)

ก. การอวยพรและการนมัสการ (Blessing and Adoration)

1) การอวยพร หมายถึงการสำนึกและการพรรณาถึงการที่พระเจ้าประทานพระพรแก่มนุษยชาติ

2) การนมัสการ หมายถึงการยกย่องความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า ที่สร้างสรรพสิ่งและประทานพระพรแก่มนุษยชาติในการบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์

ข. การภาวนาวอนขอพระเมตตา (Petition) หรือการขอขมาโทษ

หมายถึงความสำนึกในพระเมตตาของพระเจ้าและขออภัยโทษพระองค์สำหรับการไม่ร่วมมือหรือการปฏิเสธแผนการความรอดพ้นของแต่ละบุคคล

ค. การภาวนาอ้อนวอน (Intercession)

หมายถึง การภาวนาวอนขอพระพรสำหรับตนเองและผู้อื่นในสิ่งที่ตนต้องการพระพรพิเศษในการดำเนินชีวิตประจำวัน

ง. การภาวนาขอบพระคุณ (Thanksgiving)

หมายถึง การขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับพระพรแห่งความรอดพ้นและพระพรในการดำเนินชีวิตที่พระองค์ประทานให้

จ. การภาวนาสรรเสริญ (Praise)

หมายถึง การสรรเสริญ เทิดเกียรติ/ถวายเกียรติแด่พระเจ้าเพราะพระองค์ทรงเป็นอยู่เหนือสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำ

1.1.2 ประเภทของการภาวนา

คริสตชนให้ความสำคัญต่อการภาวนาว่าเป็นพื้นฐานในการสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้าและสำนึกตนว่าแต่ละคนภาวนาในนามของพระศาสนจักร เพื่อความรอดพ้นของมนุษยชาติ คริสตชนมีธรรมเนียมในการภาวนาส่วนตัวและการภาวนาร่วมกับคนอื่น โดยเฉพาะการภาวนาร่วมกันในครอบครัวและการภาวนาร่วมกับคริสตชนอื่นๆ ดังนั้น คริสตชนจึงภาวนาได้ในทุกสถานที่ที่มีบรรยากาศเหมาะสม โดยเฉพาะที่วัด ซึ่งเป็นสถานที่เฉพาะสำหรับการภาวนาและการร่วมพิธีกรรมคริสตชน ธรรมเนียมประเพณีคริสตชนแบ่งประเภทการภาวนาเป็นสามรูปแบบ คือ (CCC, 1994: 2700 – 2724)

ก. ภาวนาออกเสียง (Vocal Prayer)

หมายถึงการถวายเกียรติแด่พระเจ้า ด้วยการออกเสียงและการร้องเพลงที่ออกมาจากใจจริงของผู้ภาวนา

ข. การรำพึง (Meditation)

หมายถึง การไตร่ตรองถึงชีวิตของตนเองอาศัยพระคัมภีร์หรือการอธิบายคำสอนของพระเยซูคริสตเจ้า เพื่อพิจารณาและฟังเสียงของพระที่ตรัสในใจของแต่ละคน

ค. การเพ่งญาณ (Contemplative Prayer)

หมายถึงการรวมจิตใจด้วยความสำนึกว่าอยู่ต่อหน้าพระเจ้า สำนึกถึงความรักที่พระเจ้ามีกับเราแต่ละคน

การภาวนาทั้งสามแบบข้างต้นนี้มีลักษณะร่วมกันคือ การสำรวมจิตใจที่ปรารถนาที่จะสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้าด้วยการ “อยู่กับพระองค์” คริสตชนให้ความสำคัญต่อการภาวนาเพราะสำนึกในพระวาจาของพระเยซูคริสตเจ้าที่ย้ำให้อธิษฐานภาวนาอยู่เสมอและภาวนาให้เป็นนิสัย คือ ภาวนาควบคู่กับการดำเนินชีวิต ด้วยการดำเนินชีวิตตามที่เราภาวนา กล่าวคือการสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้า ด้วยการให้เวลาในการภาวนา/ร่วมพิธีกรรมและการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยการปฏิบัติตามพระบัญญัติแห่งความรักที่พระองค์ทรงมอบให้

1.1.3 ตัวอย่างบทภาวนา (บทภาวนาที่สำคัญ)

บทภาวนาของคริสตชนแบ่งกว้าง ๆ ได้สองแบบ คือ แบบไม่เป็นทางการ ได้แก่ การที่คริสตชนแต่งบทภาวนาของตนตามแบบของตน (ไม่มีสูตรตายตัว) เพื่อนมัสการ สรรเสริญ อ้อนวอน ขอพระพรและขอบพระคุณพระเจ้า และยังมีบทภาวนาที่เป็นทางการ หรือบทภาวนาที่เป็นสูตรสำเร็จรูปที่มีเนื้อหาจากพระคัมภีร์ โดยเฉพาะบทเพลงสดุดี (Psalms) ในพันธสัญญาเดิม และบทภาวนาอื่น ๆ ที่อ้างอิงจากพระคัมภีร์ (พันธสัญญาเดิม-พันธสัญญาใหม่) รวมถึงบทภาวนาอื่นๆ ที่พระศาสนจักรแต่งขึ้นเพื่อให้คริสตชนใช้สวดภาวนาร่วมกัน ได้แก่

ก. บทภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้า : บทข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย

บทภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้า (CCC, 1994: 2765) คือ บทข้าแต่พระบิดาฯ ซึ่งเป็นบทภาวนาที่สำคัญที่สุด เพราะพระเยซูคริสตเจ้าเป็นผู้สอนให้สวดบทนี้ด้วยพระองค์เอง (มธ 6: 9 - 13) ถือเป็นบทภาวนาพื้นฐานของคริสตชน มีการสวดภาวนาบทนี้ร่วมกันในพิธีบูชาขอบพระคุณ โดยมีใจความว่า

“ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าเจ้าทั้งหลาย พระองค์สถิตในสวรรค์
พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ พระอาณาจักรจงมาถึง พระประสงค์ จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์ โปรดประทานอาหารประจำวัน แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้ โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น โปรดช่วยข้าพเจ้าไม่ให้แพ้การผจญ แต่โปรดช่วยให้พ้นจากความชั่วร้ายเทอญ อาแมน”

ข. บทภาวนาอื่น ๆ

นอกจากบทภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้า (บทข้าแต่พระบิดา) แล้ว ยังมีบทภาวนาอื่น ๆ อีกจำนวนมากที่พระศาสนจักรแต่งขึ้น โดยนำเนื้อหามาจากพระคัมภีร์และธรรมเนียมปฏิบัติของอัครสาวกและคริสตชนยุคแรกใช้สวดภาวนากัน เช่น บทสัญลักษณ์ของอัครสาวก บทวันทามารีอา บทสิริพึงมี บทแสดงความเชื่อ บทแสดงความไว้ใจ บทแสดงความรัก บทแสดงความทุกข์ พระบัญญัติของพระเจ้า ฯลฯ ซึ่งมีการแปลเป็นภาษาต่างๆ เพื่อความสะดวกของคริสตชนในประเทศต่างๆ

1.2 พิธีกรรม (Liturgy)

1.2.1 คุณค่าและความหมายของพิธีกรรม

พิธีกรรม คือ การเฉลิมฉลองของบรรดาชาวสวรรค์ (ผู้บรรลุถึงชีวิตนิรันดรในพระเจ้า) ที่ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันในการมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ (CCC, 1994: 1136) การประกอบพิธีกรรมของคริสตชนสะท้อนถึงหลักคำสอนและวิถีปฏิบัติของศาสนาคริสต์ อันมีพื้นฐานจากการเผยแสดงของพระเจ้าทางพระเยซูคริสตเจ้า ผ่านทางพระคัมภีร์ คริสตชนให้ความสำคัญต่อการร่วมในพิธีกรรมและถือเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นการเฉลิมฉลองคารวกิจที่พระเจ้าประทานแก่มนุษย์เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับพระองค์ พิธีกรรมทำให้คริสตชนเป็นหนึ่งเดียวกันและทำให้ชีวิตคริสตชนมีคุณค่าและดำเนินชีวิตอย่างมีความหมาย เพราะพิธีกรรมเป็นเครื่องมือและเครื่องหมายที่ทำให้มนุษย์เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า ทำให้มนุษย์ได้รับพระพรจากพระเจ้าในการดำเนินชีวิตตามแผนการแห่งความรอดพ้นของพระองค์

ก. พิธีกรรมเป็นธรรมล้ำลึกของพระตรีเอกภาพ

คริสตชนเชื่อว่าพิธีกรรมเป็นคารวกิจที่พระเจ้าประทานแก่มนุษย์เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับพระองค์ เป็นการชิมลางและการจำลองถึงการเฉลิมฉลองพิธีกรรมในอาณาจักรของพระเจ้า (สวรรค์) และเป็นธรรมล้ำลึกของพระตรีเอกภาพ เนื่องจาก (CCC, 1994: 1077 – 1112)

1) พิธีกรรมเป็นคารวกิจที่ถวายเกียรติแด่พระบิดา ในฐานะที่พระองค์เป็นจุดกำเนิดและเป้าหมายชีวิต

2) พิธีกรรมเป็นการปฏิบัติหน้าที่ “สงฆ์” ของพระเยซูคริสตเจ้า ทำให้คริสตชนมีส่วนร่วมในชีวิตของพระองค์ ผู้ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดพ้น ทรงสถาปนาพิธี (ศีล) ศักดิ์สิทธิ์ในพระศาสนจักรที่พระองค์ทรงตั้งขึ้น

3) พิธีกรรมทำให้คริสตชนศักดิ์สิทธิ์และเป็นหนึ่งเดียวกันในการเป็นประชากรของพระเจ้า อาศัยพระพรของพระจิตเจ้า

ข. พิธีกรรมเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้า

คริสตชนเชื่อว่าพิธีกรรมเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นเครื่องหมายและเครื่องมือแห่งความรอดพ้นที่พระเจ้าประทานแก่ประชากรของพระองค์ พิธีกรรมทำให้มนุษย์เป็นมีส่วนร่วมในความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า ทำให้ได้รับพระพรจากพระเจ้าในการดำเนินชีวิตมุ่งสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ในพระองค์ (ความรอดพ้นพ้น) อาศัยพระวาจาของพระเจ้าและความเชื่อในพระวาจาของพระเจ้าด้วยการนำพระวาจาไปปฏิบัติในการดำเนินชีวิตประจำวันเพื่อมุ่งสู่ชีวิตนิรันดร

การประกอบพิธีกรรมซึ่งเป็นการกระทำที่แสดงออกภายนอกโดยอาศัยเครื่องหมายและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษา ท่าทาง สิ่งของต่าง ๆ ถือเป็น “สิ่งจำเป็น” สำหรับคริสตชนเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้า อย่างไรก็ตามพิธีกรรมไม่ใช่เป็นเพียง “พิธี” ภายนอก (ในรูปแบบของไสยศาสตร์) ที่ต้องทำ แต่พิธีกรรมของศาสนาคริสต์เรียกร้องให้คริสตชนร่วมพิธีกรรมด้วยความรู้ตัว รู้คุณค่า ความหมายและมีส่วนร่วมตามบทบาทหน้าที่ตามสถานภาพของแต่ละบุคคล พระศาสนจักรจึงมีการปฏิรูปพิธีกรรมอยู่เสมอ โดยเฉพาะในการประชุมสังคายนาเมืองเตรนท์ (ราวศตวรรษที่ 16) และในการประชุมสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1962 – 1965) เพื่อให้การประกอบพิธีกรรมคริสตชน เป็นการประกอบหน้าสงฆ์ของพระเยซูคริสตเจ้า ทำให้มนุษยชาติศักดิ์สิทธิ์โดยผ่านทางเครื่องหมายและสัญลักษณ์ต่าง ๆ (พิธี/ศีลศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ) ที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงตั้งขึ้นในพระศาสนจักรของพระองค์

ค. คุณลักษณะสำคัญของพิธีกรรม

ลักษณะสำคัญของพิธีกรรมคริสตชนประกอบด้วยสาระสำคัญ คือ

1) เป็นการแสดงออกถึงความเป็นหนึ่งเดียว (Unity) ในด้านเนื้อหาสาระที่สะท้อนถึงการมีความเชื่อเดียวกัน

2) มีลักษณะเป็นสากล (Catholic, Universal) กล่าวคือ ทุกคน (คริสตชน) สามารถร่วมพิธีกรรมได้ในบทบาทหน้าที่ของแต่ละบุคคล

3) มีลักษณะเป็นความศักดิ์สิทธิ์ (Holy) กล่าวคือ มีจุดหมายเพื่อบันดาลให้มนุษย์ศักดิ์สิทธิ์อาศัยพระพรของพระจิตเจ้า

4) สืบเนื่องจากธรรมประเพณีของอัครสาวก (Tradition) ด้วยการยึดตามวิถีปฏิบัติที่สืบทอดกันมาเป็นหลัก และประยุกต์ (รายละเอียดปลีกย่อย) ให้เหมาะสมในสถานการณ์ต่าง ๆ ในแต่ละท้องถิ่นและยุคสมัย

ง. องค์ประกอบของพิธีกรรม

พิธีกรรมคริสตชนประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญคือ การประกาศพระวาจา ความเชื่อและการกลับใจ กล่าวคือ การยอมรับฟังพระวาจา (ข่าวดีและวิถีแห่งความรอดพ้น) ด้วยความเชื่อศรัทธาในฐานะเป็นพระวาจาของพระเจ้า อันเป็นวิถีทางสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า เมื่อได้ฟังพระวาจาด้วยความเชื่อศรัทธาแล้ว นำชีวิตสู่การยอมรับและตอบรับพระวาจาด้วยการกลับใจ อันหมายถึงการเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนให้สอดคล้องกับวิถีทางแห่งความรอดพ้นที่พระเจ้ามอบให้ทางพระเยซูคริสตเจ้าผ่านทางพระวาจาของพระองค์

1.2.2 พิธีกรรมของคริสตชน คือ การประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ (Sacraments) และสิ่งคล้ายศีลศักดิ์สิทธิ์

คริสตชนเชื่อว่าพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ทุกคน พระองค์ทรงสร้างมนุษย์มาด้วยความรักและประทานพระพรให้มนุษย์ดำรงชีวิตอย่างมีเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า ชีวิตมนุษย์จึงเป็นการเริ่มต้นจากพระเจ้าและกลับไปหาพระเจ้าอีกครั้งหนึ่ง การดำเนินชีวิตของคริสตชนจึงเป็นไปตามแบบอย่างของชีวิตพระเยซูคริสตเจ้าคือ เกิด ตายและกลับเป็นขึ้นมาเพื่อกลับไปหาพระบิดา พระผู้สร้าง (ไพยง มนิราช, 2003: 10) ชีวิตมนุษย์จึงเป็นทั้งชีวิตที่ดำเนินไปตามระดับกายภาพ แต่ในขณะเดียวกัน คริสตชนเชื่อว่าพระเจ้าได้ประทานพระพร เพื่อให้มนุษย์สามารถบรรลุถึงชีวิตนิรันดร (ชีวิตเหนือธรรมชาติ) เพื่อให้มนุษย์เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า ดังนั้น การดำเนินชีวิตของมนุษย์ นอกจากจะบำรุงเลี้ยงตนเองด้านร่างกาย (กายภาพ) แล้ว ยังต้องบำรุงเลี้ยงตนเองด้วยการสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้าอยู่เสมอด้วยการร่วมในพิธีกรรม และพิธีกรรมคริสตชนคือ การประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์และสิ่งคล้ายศีลศักดิ์สิทธิ์ (CCC, 1994: 1075) ซึ่งดำเนินตามจังหวะและครอบคลุมถึงชีวิตมนุษย์ตั้งแต่เกิด เติบโตและการจบชีวิตบนโลกนี้

ก. พิธีกรรม คือ การประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์

พิธีกรรมหลักของคริสตชน คือ การการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ทั้งเจ็ดอย่าง ซึ่งมีรูปแบบพิธีกรรมของพระศาสนจักร ได้แก่ ศีลล้างบาป ศีลมหาสนิท ศีลศีลกำลัง ศีลอภัยบาป ศีลสมรส ศีลบวช ศีลเจิมคนไข้ ในฐานะเป็นเครื่องหมายและเครื่องมือแห่งความรอดพ้น เพื่อทำให้มนุษย์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูคริสตเจ้าและเป็นคารกิจที่ถวายแด่พระเจ้า การร่วมพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ จึงเรียกร้องให้คริสชนมีความเชื่อและแสดงออกด้วยถ้อยคำและสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นพิธีกรรม ทำให้ได้รับพระพรจากพระเจ้าเพื่อจะได้ดำเนินชีวิตปัจจุบันด้วยการสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้าและเพื่อมนุษย์ อันเป็นวิถีทางสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า ตามแผนการแห่งความรอดพ้น พระศาสนจักรจึงเรียกร้องให้คริสตชนมีใจร้อนรนที่จะรับศีลศักดิ์สิทธิ์อยู่เสมอเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตคริสตชนให้เข้มแข็งและก้าวหน้าในความสัมพันธ์กับพระเจ้า

1) ความหมายของพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์

1.1) ความเป็นมาและแนวคิดของพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์

แม้จะไม่มีคำว่า “Sacraments” ในพระคัมภีร์ แต่ก็มีเนื้อหาซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีสิ่งที่เรียกกันด้วยชื่อนี้ในเวลาต่อมา พระศาสนจักรยุคแรก ๆ ยอมรับและถือเป็นประเพณีปฏิบัติว่าศีลล้างบาปและศีลมหาสนิท เป็นการทำตามพินัยกรรมที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงสั่งในฐานะเป็น “เครื่องหมายสำหรับความรอดพ้น” ต่อมาพระศาสนจักรภายใต้การนำของอัครสาวกและผู้สืบทอดได้พัฒนาแนวคิดและความเชื่อในเรื่องศีลศักดิ์สิทธิ์และมีธรรมเนียมปฏิบัติในพระศาสนจักรยุคต่อๆ มา จนที่สุดในสภาสังคายนาเมืองเตรนท์ (ค.ศ. 1545 – 1563) อาศัยการดลใจของพระจิตเจ้าจึงได้มีการสรุปความเชื่อเกี่ยวกับศีลศักดิ์สิทธิ์อย่างเป็นทางการว่ามีเจ็ดอย่างและยืนยันว่าศีลศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้พระเยซูคริสตเจ้าเป็นผู้ตั้งขึ้นในพระศาสนจักรของพระองค์ โดยมอบเนื้อหาสาระของศีลศักดิ์สิทธิ์แก่พระศาสนจักรที่สืบทอดจากอัครสาวก เป็นเครื่องหมายและเครื่องมือที่แลเห็นได้ เป็นสัญลักษณ์ของพระพรของพระเจ้าที่ประทานแก่ประชากรของพระองค์เพื่อความรอดพ้นพ้นที่พระเจ้าประทานให้และทำให้เกิดผลในบุคคลที่รับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ (Ex Opere Operato)

แนวคิดความเข้าใจเกี่ยวกับศีลศักดิ์สิทธิ์มีพื้นฐานอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ ที่พระองค์ทรงเปิดเผยตัวพระองค์เองสร้างความสัมพันธ์กับมนุษย์ผ่านทางพันธสัญญาที่จะช่วยมนุษย์บรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ อาศัยการตอบรับของมนุษย์ด้วยความเชื่อ ความหวังและความรักในพระเจ้าและปฏิบัติความรักต่อเพื่อนมนุษย์ พันธสัญญานี้เป็นจริงทางองค์พระเยซูคริสตเจ้าที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าเป็นจริงขึ้น ทรงทำให้ประวัติศาสตร์แห่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้ามีคุณค่าและความหมายด้วยการทำให้ประวัติศาสตร์มนุษย์เป็นประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้น ทำให้มนุษย์สามารถบรรลุถึงความสัมพันธ์ที่เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าได้ พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นสื่อกลาง (เครื่องหมายและเครื่องมือแห่งความรอดพ้น) แต่พระองค์เดียวในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า ทรงตั้งพระศาสนจักรขึ้นเพื่อสืบต่อภารกิจของพระองค์ ทรงมอบความเป็นเครื่องหมายและเครื่องมือแห่งความรอดพ้น (ศีลศักดิ์สิทธิ์) แก่พระศาสนจักร ให้พระจิตของพระองค์ประทับอยู่ในพระศาสนจักรที่พระองค์ทรงตั้งขึ้น เครื่องหมายและเครื่องมือแห่งความรอดพ้น (ศีลศักดิ์สิทธิ์) จึงปรากฏในรูปแบบของพิธีกรรมซึ่งเป็นเครื่องมือที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงมอบพระพรแห่งความรอดพ้นแก่ประชากรของพระเจ้า เพื่อมุ่งสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ในพระองค์ เพื่อให้ประชากรของพระเจ้าได้มอบชีวิตของตนเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้าอย่างต่อเนื่องทุกขณะของการดำเนินชีวิต นับตั้งแต่เกิดจนถึงตาย จนกว่าจะถึงวาระสุดท้ายของชีวิตบนโลกนี้ ศีลศักดิ์สิทธิ์จึงมีความหมายที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตที่สมบูรณ์ในอาณาจักรพระเจ้า ไม่ใช่แค่พิธีระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต (ที่พระเจ้าทรงสร้างความสัมพันธ์กับมนุษย์ทางพระเยซูคริสตเจ้า) ไม่ใช่แค่พิธีกรรมสำหรับปัจจุบันอย่างเดียว (เพื่อรับพระพรสู่ชีวิตที่สมบูรณ์) แต่เป็นกิจกรรมที่เชื่อมอดีต (การช่วยให้รอดของพระเจ้า) ปัจจุบัน (การรับพระพรจากพระเจ้า) และอนาคต (การบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า) ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน อันเป็นความรอดพ้นพ้นที่ต่อเนื่องจากอดีต สู่ปัจจุบัน มุ่งสู่นิรันดรภาพในอนาคต

1.2) การประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์

พิธีกรรม (CCC, 1994: 1136 – 1199) คือ “กิจการ” ของพระเยซูคริสตเจ้า ที่ทรงมอบแก่พระศาสนจักรเพื่อเฉลิมฉลองร่วมกับบรรดาชาวสวรรค์ (ผู้บรรลุถึงชีวิตนิรันดรแล้ว) ทำให้ผู้ร่วมในพิธีกรรม (ในรูปแบบของการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์) ได้รับพระพรในการมีส่วนร่วมในชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า ดังนั้น การประกอบพิธีกรรม (พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์) ของคริสตชนจึงมีรูปแบบที่เป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยความเชื่อว่าพระเยซูคริสตเจ้าทรงมอบแก่พระศาสนจักร โดยมีพระจิตเจ้าประทับในพระศาสนจักรที่พระองค์ทรงตั้งขึ้น พิธีกรรมจึงไม่ใช่กิจกรรมส่วนบุคคล แต่เป็นกิจการของพระ ศาสนจักรซึ่งเป็น “เครื่องหมายแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกัน” (CCC, 1994: 1140) กล่าวคือ ประชากรของพระเจ้าเป็นหนึ่งเดียวกันและจัดพิธีกรรมขึ้น ภายใต้อำนาจของพระเยซูคริสตเจ้าที่มอบแก่อัครสาวกและผู้สืบทอด (บรรดามุขนายก) โดยมีสมาชิกของพระศาสนจักรมีส่วนเกี่ยวข้องตามตำแหน่งหน้าที่ บทบาทและการมีส่วนร่วมในพิธีกรรม อาศัยเครื่องหมายและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ถ้อยคำและท่าทางต่างๆ การร้องเพลงและดนตรี รวมถึงศิลปะต่าง ๆ ที่ทำให้คิดถึงพระเจ้า ภายใต้การนำของพระจิตเจ้า โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่พิธีบูชาขอบพระคุณวันอาทิตย์ (การเฉลิมฉลองธรรมล้ำลึกปัสกาของพระเยซูคริสตเจ้า ) ซึ่งเป็นวันของพระผู้เป็นจ้าทำให้คริสตชนมีส่วนร่วมในชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้า เพื่อบรรลุถึงชีวิตนิรันดร ตามปกติคริสตชนจะประกอบพิธีกรรมในสถานที่สำหรับการปฏิบัติคารวกิจ (โบสถ์) ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับการชุมนุมของคริสตชนและเป็นเครื่องหมายถึงการประทับอยู่ของพระเจ้า

พระศาสนจักรยืนยันถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของคริสตชนในการประกอบพิธีกรรมในด้านเนื้อหาสาระอย่างซื่อสัตย์ต่อธรรมประเพณีที่สืบต่อจากอัครสาวก โดยมีการประยุกต์ให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นในรายละเอียดปลีกย่อย

2) ประเภทและความหมายของศีลศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ

พระศาสนจักรยืนยันว่าศีลศักดิ์สิทธิ์ที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงตั้งขึ้นมีเจ็ดประการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับทุกช่วงเวลาที่สำคัญของชีวิตคริสตชน ศีลศักดิ์สิทธิ์จึงครอบคลุมชีวิตคริสตชนตั้งแต่เกิด เจริญเติบโต การบำบัดรักษาและพระพรของศีลศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ในทุกจังหวะที่สำคัญของชีวิต โดยแบ่งออกเป็นสามประเภทกว้าง ๆ ได้แก่ การเริ่มต้นชีวิตคริสตชน (ศีลล้างบาป กำลัง และมหาสนิท) การบำบัดรักษา (ศีลอภัยบาปและเจิมคนไข้) การเป็นหนึ่งเดียวและพันธกิจของคริสตชน (ศีลสมรสและศีลบวช) โดยศีลศักดิ์สิทธิ์ทุกประเภท เป็นการมุ่งสู่ศีลมหาสนิท (CCC, 1994: 1211) ที่ทำให้คริสตชนเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้า ลำดับต่อไปจะนำเสนอคุณค่า ความหมายของศีลศักดิ์สิทธิ์แต่ละอย่างดังนี้

2.1) ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการเข้าสู่ชีวิตคริสตชน
ประกอบด้วยสามพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ ศีลล้างบาป กำลังและมหาสนิท ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของชีวิตคริสตชน ศีลล้างบาปทำให้คริสตชนได้เกิดใหม่ด้วยความเชื่อในพระเจ้า ศีลกำลังเป็นการหล่อเลี้ยงคริสตชนให้เข้มแข็งและรับพลังในการดำเนินชีวิตคริสตชนจากศีลมหาสนิท

2.1.1) ศีลล้างบาป (Baptism) : การเริ่มต้นชีวิตคริสตชน

ก) ความเป็นมา

สืบเนื่องมาจากการที่พระเยซูทรงรับพิธีล้างจากยอห์น (ยน 1: 29-34) การสอนเรื่อง “การล้างบาป” ในการสนทนากับนิโคเดมัส (ยน 3: 1-10) และคำสั่งของพระองค์ที่ว่า “ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา โปรดศีลล้างบาปให้เขา เดชะพระนาม พระบิดา พระบุตร และพระจิต” (มธ 28: 19) คริสตชนนับแต่ยุคแรกจึงได้ถือปฏิบัติพิธีศีลล้างบาป โดยหมายถึงการชำระตนให้บริสุทธิ์จากบาปยืนยันความเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ และเป็นเครื่องหมายของการกลับใจ และในเวลาเดียวกันก็เป็นเครื่องหมายการเป็นสมาชิกของพระศาสนจักร “คนเหล่านั้นได้ฟังและได้รับศีลล้างบาป” (กจ 2: 41) พวกเขาแสดงออกถึงการกลับใจ “ท่านทั้งหลายจงสำนึกผิดกลับใจเถิด แต่ละคนจงรับศีลล้างบาป เดชะพระนามของพระเยซูคริสตเจ้า เพื่อจะได้รับการอภัยบาป แล้วท่านจะได้รับพระพรของพระจิตเจ้า” (กจ 2: 38) เป็นการประกาศยอมรับพระเยซูคริสตเจ้า “ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระเยซูคริสตเจ้า ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า (กจ 8: 38 ดู 8: 26-40) ความหมายที่ลึกซึ้งของศีลล้างบาปนี้คือ “ในศีลล้างบาป ท่านทั้งหลายได้ถูกฝังพร้อมกับพระเยซูคริสตเจ้าและกลับคืนชีพพร้อมกับพระองค์” (คส 2: 12) นี่คือการเกิดใหม่ เพราะได้ตายต่อบาปแล้ว (รม 6: 11) จึงต้องดำเนินตามวิถีชีวิตใหม่เพื่อมุ่งสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า

ข) ความจำเป็นและผลของศีลล้างบาป

พระเยซูคริสตเจ้าย้ำถึงความจำเป็นของการรับศีลล้างบาป เพื่อความรอดพ้น โดยเชื่อมโยงความเชื่อกับการล้างบาปเข้าด้วยกัน กล่าวคือ การล้างบาปเป็นการแสดงออกถึงความเชื่ออันเป็นผลจากฟังการประกาศพระวาจาของพระเจ้าและพร้อมที่จะนำแนวทางของพระเจ้ามาปฏิบัติในชีวิต เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้าสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ ทั้งนี้ศีลล้างบาปทำให้ผู้รับศีลได้รับพระพรจากพระเจ้าเป็นพิเศษ ได้แก่

- การยกบาปทุกประการ (บาปกำเนิดและบาปส่วนบุคคล) ที่ทำให้มนุษย์กับพระเจ้าแยกจากกัน

- การเป็นบุตร (บุญธรรม) ของพระเจ้า ได้รับชีวิตใหม่ในการมีส่วนร่วมในชีวิตของพระคริสตเจ้า

- การเป็นสมาชิกของพระศาสนจักรที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระเยซูคริสตเจ้าและร่วมส่วนในภารกิจตามแผนการแห่งความรอดพ้นของพระเจ้า

ค) รูปแบบและความหมาย

รูปแบบและความหมายของศีลล้างบาปสืบทอดมาจากประเพณีของอิสราเอล นับแต่พันธสัญญาเดิม การชำระล้างด้วยน้ำเป็นเครื่องหมายแสดงถึงการชำระทางจิตใจ (อพย 40: 12, ลนต 8: 6 ฯลฯ) เป็นการ “ผ่าน” ความตายเข้าสู่ชีวิตเหมือนกับชาวอิสราเอลข้ามทะเลแดง พ้นจากเป็นทาสของอียิปต์ ส่วนรูปแบบพิธีกรรมการล้างบาปนั้นก็รับมาจากประเพณียิว ดังที่นักบุญยอห์น บับติสต์เองก็ได้กระทำ ไม่มีการกล่าวถึง “สูตร” หรือพิธีการต่างๆ ในการล้างบาป แต่ก็เข้าใจว่า เป็นการลงไปในน้ำ หรือใช้น้ำรดที่ศีรษะ พร้อมกับออกพระนามพระเจ้า พระบิดา พระบุตรและพระจิต ดังที่นักบุญยุสติน ปิตาจารย์ในต้นศตวรรษที่สองได้บันทึกไว้ว่า

“กล่าวถึงการล้างบาป ให้ล้างบาปดังนี้ หลังจากได้บรรยายทั้งหมดแล้วให้ล้างบาปในพระนามพระบิดา พระบุตรและพระจิต ในน้ำที่ (มีกระแสน้ำ) ไหล หากไม่มีน้ำที่ไหล ก็จงล้างในน้ำแบบอื่น หากไม่สามารถล้างในน้ำเย็น ก็จงล้างในน้ำอุ่น และหากไม่มีน้ำทั้งสองแบบก็จงใช้น้ำรดศีรษะสามหน ‘ในพระนามของพระบิดา และพระบุตร และพระจิต’ และก่อนที่จะล้าง ให้ผู้ทำพิธีล้างและผู้รับศีลล้าง ตลอดจนคนอื่นๆ ด้วย ถ้าเป็นไปได้ อดอาหารเป็นเวลาหนึ่งหรือสองวันก่อนพิธี”

ง) การเตรียมตัวก่อนรับศีลล้างบาป

ก่อนจะรับศีลล้างบาป มีการเตรียมตัวเป็นเวลานาน บางครั้งนับเป็นปี ผู้ที่เตรียมตัวรับศีลล้างบาปนี้เรียกว่า “คริสตชนสำรอง” โดยการเรียนรู้หลักธรรมคำสอนต่างๆ ของพระศาสนจักร พร้อมกับการภาวนาและร่วมพิธีกรรมบางอย่างได้ เช่น ร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณภาคแรกซึ่งเป็นภาคเตรียมนั้นได้ พิธีกรรมเหล่านี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก เปลี่ยนแต่เพียงการเตรียมตัวซึ่งสั้นลง และรายละเอียดต่างๆ ในระหว่างพิธีกรรมนั้นเท่านั้น

จ) ผู้รับศีลล้างบาป : ผู้มีความเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า

ศีลล้างบาปเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งความเชื่อ เป็นการเริ่มต้นความเชื่อสู่วิถีชีวิตคริสตชน เป็นที่แน่ชัดว่า ศีลล้างบาปกระทำกับผู้ใหญ่ ไม่มีหลักฐานว่าในศตวรรษต้น ๆ นั้นมีการล้างบาปเด็กหรือไม่ แต่ได้เริ่มปฏิบัติกันในต้นยุคกลาง สังคายนาเตรนท์ได้ย้ำความสำคัญของเรื่องนี้ ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อลบล้างบาปกำเนิดแม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นการตีความและถกเถียงกันมากตลอดมา อย่างไรก็ดีถือเป็นประเพณีปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้ว่า บิดามารดานำบุตรที่เกิดใหม่ไปรับศีลล้างบาป โดยมี “พ่อทูนหัว” (Godfather) หรือ “แม่ทูนหัว” (Godmother) ไปด้วย ทั้งพ่อแม่และพ่อแม่ทูนหัวเป็นตัวแทนของเด็กในการประกาศความเชื่อ เป็นผู้รับผิดชอบในการอบรมเลี้ยงดูให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นผู้มีความเชื่อ นอกนั้นประชาคมคริสต์เองก็มีส่วนร่วมและรับผิดชอบด้วยเช่นกัน เพราะเด็กผู้นั้นกลายเป็นส่วนของประชาคมคริสต์แล้วอย่างสมบูรณ์ ตามปกติจะกระทำพิธีล้างบาปในวัดในคืนวันปัสกา หรือวันอาทิตย์ หรือวันที่เห็นว่าเหมาะสม ความหมายก็คือให้เป็นการแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมในธรรมล้ำลึกการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูคริสตเจ้า ซึ่งเป็นวันที่ประชาคมคริสต์เองก็มาร่วมชุมนุมกันมากที่สุด

ฉ) ศาสนบริกรศีลล้างบาป

ปกติผู้กระทำพิธีโปรดศีลล้างบาป คือ ศาสนบริกรสงฆ์ ในกรณีที่เด็กหรือผู้ใหญ่อยู่ในอันตรายถึงแก่ชีวิต คริสตชนทุกคนมีสิทธิ์โปรดศีลล้างบาปได้ ในกรณีเช่นนี้พิธีกรรมการล้างบาปก็มีแต่เพียงส่วนที่สำคัญที่สุด คือการเทน้ำลงบนศีรษะของเด็กหรือผู้ใหญ่นั้นและกล่าวว่า “ข้าพเจ้าล้างท่านในพระนามของพระบิดา พระบุตร และพระจิต”

พระศาสนจักรให้ความสำคัญแก่พิธีศีลล้างบาปในฐานะเป็นพื้นฐานสู่การรับศีลศักดิ์สิทธิ์ประการอื่นๆ ศีลล้างบาปทำให้ผู้รับศีลได้เข้าสู่การเป็นคริสตชน ทำให้เป็นหนึ่งเดียวกันในการเป็นประชากรของพระเจ้า ศีลล้างบาปเป็นเหมือนกับ “ตราประทับ” ในการเป็นคนของพระคริสตเจ้า (คริสตชน) ที่ถูกประทับตราฝ่ายจิตที่ลบล้างไม่ได้ นอกจากนั้น ศีลล้างบาปยังเป็นเหมือนกับ “ประตู” สู่ชีวิตคริสตชนที่ต้องมีการหล่อเลี้ยงชีวิตของตนในการสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้า ด้วยการปฏิบัติตนตามแนวทางที่พระองค์มอบแก่พระศาสนจักร

2.1.2) ศีลกำลัง (Confirmation) : การเป็นคริสตชนที่สมบูรณ์

ก) ความเป็นมาและความหมาย

ศีลกำลังเป็นพิธีกรรมศีลศักดิ์สิทธิ์ที่สัมพันธ์และต่อเนื่องจากศีลล้างบาป กล่าวคือ ศีลล้างบาปเป็นการปฏิญาณความเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า ผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ผู้ทรงประทานชีวิตใหม่ ทำให้เข้าร่วมชีวิตพระเจ้ากับพระองค์ ส่วนศีลกำลังเป็นการรับพระหรรษทาน จากพระจิตของพระเจ้า “ยืนยัน” และ “ทำให้ความเชื่อนี้หนักแน่น” (To Confirm) พระองค์ประทานพระพรต่างๆ แก่ผู้รับ ให้มีความเชื่อที่เข้มแข็ง ให้สามารถดำเนินตามวิถีชีวิตใหม่ที่ได้รับจากศีลล้างบาป ทำให้เป็นคริสตชนที่สมบูรณ์อาศัยพระพรของพระจิตเจ้าที่ประทานแก่ผู้รับศีลกำลัง

การค้นหาที่มาและพื้นฐานของศีลกำลังในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่อาจหาได้ไม่ง่ายนัก แต่การพิจารณาความเป็นมาและสถานภาพของศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ หากพิจารณาเพียงแต่ในแง่ที่ว่า ศีลศักดิ์สิทธิ์ คือ เครื่องมือของพระหรรษทานของพระเจ้า (Grace) โดยไม่ให้ความสำคัญกับศีลศักดิ์สิทธิ์ ในฐานะที่เป็นธรรมล้ำลึกแห่งความรอดพ้นที่พระเจ้ามอบภารกิจแก่พระศาสนจักร ก็จะทำให้แยกศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ออกจากกัน ไม่พิจารณาเอกภาพของชีวิตและความสัมพันธ์ของขณะต่างๆ ของชีวิต ไม่พิจารณาความสัมพันธ์ของธรรมล้ำลึกต่างๆ ดังนั้น การพิจารณาเรื่องศีลกำลัง ซึ่งเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่เน้นพระหรรษทานที่พระเจ้าประทานให้แก่ผู้รับเป็นพิเศษ จึงต้องเชื่อมโยงกับธรรมล้ำลึกการบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระเยซูคริสตเจ้า ผู้ทรงรับภารกิจแห่งความรอดพ้นจากพระบิดา และพระองค์ทรงเป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิตของผู้ที่เชื่อในพระเจ้า พระองค์ทรงบังเกิดมาโดยอำนาจของพระจิต พระจิตของพระเจ้าเสด็จมาเหนือพระองค์เมื่อได้รับพิธีล้างจากยอห์น (ยน 1: 32) โดยอำนาจของพระจิต พระองค์ทรงสอน กระทำอัศจรรย์ ภาวนา ทรงสิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพโดยอำนาจของพระจิตเช่นกัน และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูคริสตเจ้าทำให้เรามีชีวิตใหม่ พระเจ้าทรงประทานพระจิต “ของขวัญอันยิ่งใหญ่” จากการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ให้แก่ประชากรของพระเจ้า

ข) คุณค่า รูปแบบของพิธีและศาสนบริกร

ศีลกำลังเป็นการรับพระพรจากพระจิต พระจิตของพระเจ้าทรงกระทำภารกิจของพระองค์นับแต่การสร้างโลกร่วมกับพระบิดา พระบุตรและพระจิตของพระองค์ทรงอยู่เหนือบุคคลที่พระเจ้าทรงเลือกสรรที่ได้ “รับการเจิม” อันเป็นเครื่องหมายแห่งพละกำลังที่มาจากพระเจ้า รวมทั้งประชากรของพระองค์ด้วย “การเจิมด้วยน้ำมัน” และ “การปกมือ” เป็นเครื่องหมายของการรับพระพรจากพระจิต เป็นเครื่องหมายของการเป็นคริสตชนที่สมบูรณ์อาศัยพระพรของพระจิตเจ้า และเป็นการมอบหมายหน้าที่แก่ผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรรให้กระทำหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับประเพณีการปกมือเหนือศีรษะ ซึ่งเป็นประเพณีปฏิบัติของอิสราเอล และที่บรรดาสาวกได้กระทำเช่นเดียวกัน (กจ 8: 17; 19: 1-7) พระจิตของพระเจ้าไม่ได้เสด็จมาเหนือแต่ละบุคคลเท่านั้น แต่ยังได้เสด็จมายังประชากรของพระเจ้า ดังที่ได้เสด็จมาเหนือบรรดาสาวกซึ่งร่วมกันสวดภาวนาหลังจากที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว (กจ 2: 1-13) และดังที่นักบุญเปาโลสอนว่า “ผู้ที่ทรงตั้งเราและท่านทั้งหลายในพระเยซูคริสตเจ้า และได้ทรงเจิมเรานั้น คือ พระเจ้า พระองค์ทรงประทับตราเราด้วยตราของพระองค์ และประทานพระจิตเจ้าไว้ในดวงใจของเราเป็นเครื่องประกันด้วย” (2 คร 1: 21-22) ความหมายที่นักบุญเปาโล กล่าวนี้เป็นความหมายทางจิตวิญญาณมากกว่าก็จริง แต่เป็นพื้นฐานประการหนึ่งสำหรับการแสดงออกทางเครื่องหมายในพิธีกรรม คือการปกมือและการเจิมด้วยน้ำมัน

พระจิตของพระเจ้าทรงเป็นบ่อเกิดแห่งความรัก “ความรักของพระเจ้าได้หลั่งไหลเข้าสู่จิตใจเราโดยทางพระจิตบริสุทธิ์ซึ่งพระองค์ได้ประทานให้แก่เราแล้ว” (รม 5: 5; 1 คร 13) พระองค์ทรงเป็นบ่อเกิดแห่งความสามารถพิเศษต่างๆ (1 คร 12: 4-12) ที่ประทานให้แต่ละคนและเป็นพื้นฐานของพระศาสนจักรทั้งหมด (1 คร 14: 4, 12, 26) ทำให้พระศาสนจักรเป็นดังพระวิหารของพระเจ้า (1 คร 3: 16; อฟ 2: 22) ทรงเป็น “วิญญาณ” ของผู้มีความเชื่อทุกคน (กท 5: 25; 6: 8; รม 8: 9) โดยทางความเชื่อ พระองค์ประทับอยู่แล้วในศีลล้างบาป (1 คร 6: 11; 2 คร 1: 22) และในศีลมหาสนิท (1 คร 12: 13) ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ศีลกำลังมีลักษณะเช่นเดียวกับศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ เนื่องจากในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ มีการแยกศีลล้างบาปจากศีลกำลังอย่างชัดเจน กล่าวคือ ศีลล้างบาปเป็นการยกบาป การเป็นคนใหม่ การเข้าสู่การเป็นสมาชิกของพระศาสนจักรและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้ามีส่วนร่วมในชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้า ส่วนศีลกำลังทำให้ได้รับพระหรรษทานพิเศษต่างๆ จากพระจิต

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าศีลล้างบาปและศีลกำลังไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องหรือต่อเนื่องกันเลย เนื่องจากพระเยซูคริสตเจ้าทรงรับพิธีล้างจากนักบุญยอห์น บัปติส และทรงได้รับพระจิตเจ้าด้วยในขณะรับพิธีล้างที่แม่น้ำจอร์แดน นอกจากนั้น นักบุญเปาโลยังสอนด้วยว่า ชีวิตของผู้ที่เชื่อเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูคริสตเจ้า และกับพระจิตของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ในยุคเริ่มต้นของพระศาสนจักร จึงมีการโปรดศีลล้างบาปและศีลกำลังพร้อมกัน แยกออกจากกันนับแต่ศตวรรษที่ 11 โดยมุขนายกเป็นผู้ประกอบพิธีศีลกำลังด้วยการปกมือและเจิมด้วยน้ำมัน

2.1.3) ศีลมหาสนิท (Eucharist) : การเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูคริสตเจ้า

ก) ความเป็นมา

ในช่วงสุดท้ายของชีวิต ก่อนที่พระเยซูคริสตเจ้าจะทรงรับทรมาน พระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่เล่าว่า พระองค์ทรงรับประทานอาหารค่ำ (มื้อสุดท้าย) ร่วมกับบรรดาสาวก ขณะที่กำลังรับประทานอยู่นั้น “พระองค์ทรงหยิบขนมปัง ทรงขอบพระคุณ ทรงบิขนมปังประทานให้บรรดาศิษย์ตรัสว่า ‘นี่เป็นกายของเราที่ถูกมอบเพื่อท่านทั้งหลาย จงทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด’ ในทำนองเดียวกัน เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว พระองค์ทรงหยิบถ้วยตรัสว่า ‘ถ้วยนี้เป็นพันธสัญญาใหม่ในโลหิตของเราซึ่งถูกหลั่งเพื่อท่านทั้งหลาย’ (ลก 22: 19-20, 1 คร 11: 24, มก 14: 23, มธ 26: 27) นี่คือที่มาของ “ศีลมหาสนิท” และการประกอบพิธีกรรมที่เรียกว่า “พิธี(มิสซา) บูชาขอบพระคุณ” หรือพิธีมิสซาในภาษาเดิม โดยคริสตชนได้ร่วมพิธีหักปังหรือพิธีขอบพระคุณพระเจ้านี้ นับแต่แรกแล้ว (กจ 2: 46, 1 คร 11: 23) เพื่อเป็นการรำลึกถึงงานเลี้ยงครั้งสุดท้าย และการร่วมส่วนในการรับทรมาน การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูคริสตเจ้า รวมทั้งการรอการเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่งของพระองค์

พิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณจึงรวมมิติแห่งอดีต ปัจจุบันและอนาคตอยู่ร่วมกันในกิจกรรมนี้ คริสตชนมีส่วนร่วมกับพระเยซูคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ อยู่ในอาณาจักรใหม่ของพระองค์ในขณะที่ร่วมพิธีกรรมนี้ เป็นเครื่องหมายแห่งพันธสัญญาใหม่ซึ่งสำเร็จสมบูรณ์ในการกลับคืนพระชนมชีพขององค์พระเยซูคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็นทั้งศาสนบริกรสงฆ์ ผู้ถวายและทรงเป็นเครื่องถวายบูชานั้นเอง คริสตชนจึงร่วมสนิทกับพระองค์โดยการรับประทาน “พระกาย” และ “พระโลหิต” ของพระองค์ ร่วมเป็นพระกายเดียวกับพระเยซูคริสตเจ้า และเป็นหนึ่งเดียวในระหว่างพวกเขาเองด้วย พวกเขาเป็นประชากรใหม่ของพระเจ้า และในฐานะประชากรหรือประชาคมใหม่ก็เป็นพระกายของพระเยซูคริสตเจ้า นี่คือความหมายของ “ศีลมหาสนิท” (Communion) ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งความเป็นหนึ่งเดียว ในประชาคมเดียวกันซึ่งอยู่ร่วมกันด้วยสายสัมพันธ์แห่งความรัก (Agape)

ข) คุณค่าและความหมาย

คริสตชนเชื่อว่า ศีลมหาสนิทไม่ใช่เป็นเพียง “การระลึกถึง” เหตุการณ์ในอดีต แต่เป็นการร่วมในเหตุการณ์เดียวกันนั้น ซึ่ง “เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง” ในลักษณะและในความหมายเดียวกัน กล่าวคือ พระเยซูคริสตเจ้าทรงสิ้นพระชนม์เพื่อไถ่บาปมนุษย์ และคริสตชนร่วมส่วนในภารกิจของพระองค์ โดยทางการประกอบพิธีศีลมหาสนิท (พิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ) พระเยซูคริสตเจ้า ทรงเป็นทั้งผู้ถวายบูชาและเครื่องบูชา โดยศาสนบริกรสงฆ์ (บาทหลวง/มุขนายก) เป็นผู้ประกอบพิธีกรรม ด้วยเหตุนี้ขนมปังและเหล้าองุ่นในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ จึงไม่ใช่ขนมปังและเหล้าองุ่นธรรมดาอีกต่อไป แต่เป็นพระกายและพระโลหิตของพระเยซูคริสตเจ้า “ถ้วยถวายพระพรซึ่งเราใช้ขอบพระคุณพระเจ้านั้น มิได้ทำให้เรามีส่วนร่วมในพระโลหิตของพระคริสตเจ้าหรือ? และปังที่เราบินั้น มิได้ทำให้เรามีส่วนร่วมในพระกายของพระคริสตเจ้าหรือ?” (1 คร 10: 16) พระศาสนจักรให้ความหมายเกี่ยวกับ “พระกายและพระโลหิต” นี้โดยอธิบายว่าขนมปังและเหล้าองุ่นได้เปลี่ยนความเป็นขนมปังและเหล้าองุ่น กลายเป็นพระกายและพระโลหิตของพระเยซูคริสตเจ้า ผู้มีสิทธิ์และอำนาจในการประกอบพิธีกรรมนี้ ได้แก่ ศาสนบริกรสงฆ์เท่านั้น สัตบุรุษเป็นผู้ร่วมพิธีกรรมในฐานะที่เป็นประชากรของพระเจ้าและมีสังฆภาพร่วมกัน ประชาคมคริสต์ทั้งหมดที่ชุมนุมกันอยู่ ก็ร่วมถวายแต่มีหน้าที่แตกต่างกัน ศีลมหาสนิทคือ “ชีวิต” ของประชาคมนี้

ค) ลำดับการต่าง ๆ ของพิธีบูชาขอบพระคุณ

พิธีการต่างๆ ของพิธีบูชาขอบพระคุณนั้น ประกอบด้วยลำดับการ (ภาค) ต่างๆ ดังนี้ (คณะกรรมการพิธีกรรมแห่งประเทศไทย, 1994: 1 – 33, โรแบต์ โกสเต, 1996: 113 – 117)

1) ภาคบทนำ/เริ่มพิธี

ภาคนำหรือเรียกว่า “ภาคเริ่มพิธี” มีลักษณะเป็นบทนำก่อนเข้าสู่สาระสำคัญของพิธีกรรม เริ่มต้นด้วยการทำเครื่องหมายกางเขน เพราะคริสตชนมาชุมนุมกันในนามของพระบิดา พระบุตรและพระจิต ประธานในพิธี (ศาสนบริกรสงฆ์) จะกล่าวทักทายผู้ร่วมพิธีว่า “พระเจ้าสถิตกับท่าน” และเชิญชวนให้ผู้ร่วมพิธียอมรับว่าตนเองเป็นคนบาปเพื่ออ้อนวอนพระเมตตาจากพระเจ้า เมื่อได้รับการอภัยบาปจากพระเจ้าแล้ว ผู้ร่วมพิธีจะสรรเสริญพระเจ้าด้วยการขับร้องหรือภาวนาบท “สิริโรจนาแด่พระเจ้า” ต่อจากนั้นประธานในพิธีจะเชิญชวนทุกคนให้อธิษฐานภาวนาอย่างเงียบ ๆ สักครู่หนึ่ง แล้วจึงรวบรวมคำภาวนาของทุกคนด้วยการอ้อนวอนพระในนามคริสตชน ขอให้พระองค์ทวีความเชื่อ ความไว้วางใจและความรัก ทั้งขอพระเจ้าโปรดเปิดจิตใจแต่ละคนเพื่อรับฟังพระวาจาของพระเจ้าในภาควจนพิธีกรรมต่อไป

2) ภาควจนพิธีกรรม

ภาควจนพิธีกรรมนี้ ความจริงพระศาสนจักรไม่ได้คิดขึ้นมาเอง แต่เป็น “มรดก” ส่วนหนึ่ง ซึ่งได้รับมาจากการถือปฏิบัติของชาวยิวในพันธสัญญาเดิม ซึ่งถือปฏิบัติกันในโรงสวด (ศาลาธรรม) ของชาวยิว จะเห็นได้ว่าแม้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขและถือปฏิบัติแตกต่างกันบ้าง ณ ที่ต่างๆ ในพระศาสนจักรคาทอลิก ตามกาลเวลาที่ผ่านมา แต่ในเนื้อหาสาระสำคัญแล้ว เหมือนกันมาก นักบุญยุสติน บันทึกไว้ราว ค.ศ. 150 ทำให้เราทราบว่า การถือปฏิบัติเช่นนี้สืบต่อมาจากธรรมเนียมของชาวยิว “มีการอ่านบันทึกความทรงจำของอัครสาวก และงานเขียนของชาวยิว “มีการอ่านบันทึกความทรงจำของอัครสาวก และงานเขียนของบรรดาท่านผู้ทำนายมากน้อยตามแต่เวลาจะอำนวยให้.......ผู้เป็นประธานพูดเตือนใจ .....ต่อจากนั้นทุกคนยืนและภาวนา” (I Apologia, 67) การประกาศยืนยันความเชื่อ และบทภาวนาเพื่อ/ในนามพระศาสนจักรและมนุษยชาติ

3) ภาคบูชาขอบพระคุณ

เมื่อจบภาควจนพิธีกรรมแล้ว เป็นการนำเครื่องบูชา (ปังและเหล้าองุ่น) เพื่อถวายแด่พระเจ้า ผู้ร่วมพิธีร่วมใจกัน ด้วยการถวายชีวิตของตนพร้อมกับปังและเหล้าองุ่น มีการนำของถวายมา (การแห่เครื่องบูชา) ประธานในพิธีเป็นผู้รับไว้และวางไว้บนพระแท่น จากนั้นมีการถวายกำยาน ตามด้วยการล้างมือของประธานในพิธี ประธานในพิธีจะสวดภาวนาเตรียมถวายบูชาและต่อด้วย “คำภาวนาแห่งบทขอบพระคุณ” ซึ่งมีลักษณะเป็นการโต้ – ตอบรับระหว่างศาสนบริกรสงฆ์ กับสัตบุรุษ ตามมาด้วย “บทเริ่มขอบพระคุณ” ต่อด้วยการขับเพลงศักดิ์สิทธิ์ สรรเสริญพระเจ้า ตามด้วยบทขอบพระคุณ ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญของพิธีบูชาขอบพระคุณเพราะเป็นการทำตามแบบที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงสั่งให้ทำ เพื่อร่วมส่วนในชีวิตของพระองค์ มีการภาวนาบรรยายถึงคำสั่งของพระเยซูคริสตเจ้าเกี่ยวกับพิธีบูชาขอบพระคุณ มีการภาวนาเหนือแผ่นปังและเหล้าองุ่น เพื่อถวายพระพรแด่พระเจ้าและขอพระจิตเจ้าโปรดเปลี่ยนสาระของแผ่นปังและเหล้าองุ่นให้กลายเป็น “พระกายและพระโลหิตของพระเยซูคริสตเจ้า” โดยศาสนบริกรสงฆ์ปกมือเหนือปังและเหล้าองุ่น พลางอ้อนวอนพระบิดาขอให้พระองค์ทรงส่งพระจิต ด้วยการกล่าวว่า “โปรดให้ปังและเหล้าองุ่นนี้ศักดิ์สิทธิ์ เปลี่ยนเป็นพระกายและพระโลหิตของพระเยซูคริสตเจ้า..”

ต่อจากนั้นเป็นการประกาศยืนยันธรรมล้ำลึกปัสกา ว่า “พระคริสตเจ้าได้สิ้นพระชนม์ พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนชีพ พระคริสตเจ้าจะเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่ง” หรือถ้อยคำอื่นๆ นั้นไม่เพียงแต่เป็นวลีแห่งความเชื่อต่อการประทับของพระคริสตเจ้า ณ ที่นั้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการประกาศยืนยันศรัทธาและความหวังใน “ธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อ” ทั้งหมดด้วย กล่าวคือ แผนการกอบกู้โลกทั้งมวลของพระเป็นเจ้า ซึ่งสำเร็จลงในขั้นสุดยอดแห่งพระทรมานและการกลับคืนพระชนมชีพ การเสด็จสู่สวรรค์และการจะเสด็จกลับมาครั้งสุดท้ายของพระคริสตเจ้าอย่างรุ่งโรจน์ จากนั้นเป็นการวอนขอพระจิตเจ้าเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวและภาวนาเพื่อสมาชิกของพระศาสนจักรและมวลมนุษยชาติ และจบด้วยบทยอพระเกีรยติท้ายบท (Doxology) ที่สำคัญว่า “อาศัยพระคริสตเจ้า พร้อมกับพระคริสตเจ้า และในพระคริสตเจ้า ข้าแต่พระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพพระองค์ทรงพระสิริรุ่งโรจน์กับพระจิต ตลอดนิรันดร” และมีการตอบรับพร้อมกันว่า “อาแมน”

หลังจากนั้น มีการสวดบท “ข้าแต่พระบิดา” ตอบด้วยการมอบสันติสุข (ด้วยการไหว้กันและกัน) อันเป็นเครื่องหมายของการขอโทษและการคืนดีกันก่อนรับพระกายของพระเยซูคริสตเจ้า มีการบิปัง (สัญลักษณ์แห่งความเป็นหนึ่งเดียวกัน) การสวดภาวนา การออกไปรับพระกาย พระโลหิตของพระเยซูคริสตเจ้าในรูปของแผ่นปัง การรับพระเยซูคริสตเจ้าในรูปของแผ่นปังนี้ นับว่าเป็นส่วนสำคัญยิ่งในบูชาขอบพระคุณ ซึ่งมีความหมายหลายประการโดยเฉพาะว่า

- เป็นการร่วมสนิท เป็นหนึ่งเดียวกันกับพระคริสตเจ้า
- เป็นการร่วมมีส่วนในงานกอบกู้ของพระคริสตเจ้า
- เป็นการร่วมสนิทสัมพันธ์กับพี่น้องคริสตศาสนิกชนด้วย

คำที่ศาสนบริกรสงฆ์เอ่ยขณะยื่นศีลมหาสนิทในสัตบุรุษว่า “พระกายพระคริสตเจ้าพระโลหิตพระคริสตเจ้า” และสัตบุรุษตอบ “อาแมน” วิธีการรับศีลมหาสนิทมีต่าง ๆ กันตามกาลเวลาที่ผ่านมา ปัจจุบันสัตบุรุษนิยมยืนและรับศีลมหาสนิทด้วยการยื่นมือออกรับ (จากศาสนบริกรสงฆ์) ระหว่างการรับพระกายของพระเยซูคริสตเจ้าในรูปแผ่นปัง มีการขับร้องบทเพลงเพื่อขอบพระคุณพระเจ้า จากนั้นจะเงียบสงบสักครู่หนึ่งและมีบทภาวนาโมทนาคุณพระเจ้า ตามด้วยภาคปิดพิธี

4) ภาคปิดพิธี

หลังการรับพระเยซูคริสตเจ้าในรูปแผ่นปัง จะมีการอำลาและการส่งออกไป โดยประธานในพิธีจะกล่าวคำอำลาสัตบุรุษ จบลงด้วยการอวยพรของประธานในพิธี เพื่อส่งให้ผู้ร่วมพิธีออกไปปฏิบัติภารหน้าที่ที่พระเยซูคริสตเจ้ามอบหมาย ตามความหมายของคำลาตินที่ว่า “มิสซา” ที่แปลว่า “ส่งกลับไป”

ในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ คริสตชน “ทำดังนี้” ตามที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงกระทำ และสั่งสอนให้พวกสาวกทำ ศาสนบริกรสงฆ์กระทำเช่นเดียวกับที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงกระทำ กล่าวคือ กล่าวคำภาวนา สรรเสริญ ขอบพระคุณพระบิดานามของประชากรของพระองค์เป็นการเปล่งเสียงขอบพระคุณและสรรเสริญพระบิดาสำหรับกิจการทั้งมวลอันน่าพิศวงที่พระเจ้าทรงกระทำมา ตราบจนถึงจุดสูงสุด คือ การประทานพระบุตรมากอบกู้เรา ยิ่งกว่านั้น การกอบกู้นี้ได้ ‘กลายเป็นปัจจุบัน’ สำหรับเรา กล่าวอีกนัยหนึ่งกาลเวลาและระยะทาง ซึ่งทำให้เราห่างจากบูชาที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงถวายเมื่อ 2000 ปีมาแล้วในปาเลสไตน์ได้ถูก “ดึง” ให้เข้าใกล้ เหมือนกล้องส่องทางไกล ฉะนั้น การบูชาของพระองค์มาอยู่เฉพาะหน้าเรา ท่ามกลางเรา ในบัดนี้ พระเยซูคริสตเจ้า ผู้ถูกตรึงบนไม้กางเขนและรับเกียรติรุ่งโรจน์ได้ปรากฏพระองค์เฉพาะหน้าเรา วอนขอพระบิดาแทนเราถวายพระองค์แด่พระบิดา และถวายตัวเราพร้อมกับพระองค์ด้วย การที่เรารับพระกายและดื่มพระโลหิตของพระเยซูคริสตเจ้า ดังที่บรรดาอัครสาวกได้ปฏิบัติมา เป็นการกระทำที่ให้ความสนิทสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นในบูชาของพระองค์
2.2) ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการเยียวยารักษา
แม้ว่าการดำเนินชีวิตคริสตชนจะเริ่มต้นด้วยศีลล้างบาป สู่การเป็นคริสตชนที่สมบูรณ์ด้วยศีลกำลัง เป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูคริสตเจ้าด้วยศีลมหาสนิท แต่คริสตชนยังคงเป็น “มนุษย์” ที่มีความจำกัด มีความบกพร่องและบ่อยครั้งปฏิเสธที่จะสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้า จำเป็นต้องมีการบำบัดรักษาจากพระเยซูคริสตเจ้า เพื่อการสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้าจะได้ดำเนินต่อไป โดยมีพื้นฐานบนคำสอนและการดำเนินชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้า พระองค์ทรงอภัยบาปและการบำบัดรักษาคนเจ็บป่วย ทำให้พระศาสนจักรสานต่อเจตนารมณ์ของพระเยซูคริสตเจ้าในการนำพระพรของพระเจ้าสู่การรักษาเยียวยาและการช่วยให้รอดอาศัยพระพรของพระจิต ในรูปแบบของพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ ศีลอภัยบาปและศีลเจิมผู้ป่วย
2.2.1) ศีลอภัยบาป (Penance) : การคืนดีกับพระเจ้า

ก) คุณค่า ความหมายและความสัมพันธ์กับศีลล้างบาป

คริสตชนเชื่อว่าพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์เป็นภาพลักษณ์ของพระองค์ มีวิถีชีวิตมุ่งไปสู่จุดหมายสุดท้าย คือ ชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า ความเป็นจริงสูงสุด คริสตชนจึงเข้าใจว่า บาปไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่ด้วยตนเอง แต่เป็นสภาพความสัมพันธ์ที่เหินห่างระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า เป็นความบกพร่องของมนุษย์ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของพระเจ้า แปลกแยกจากวิถีแห่งชีวิตที่พระเจ้าทรงสร้างมา มีผลทำให้มนุษย์เป็นภาพลักษณ์ที่มัวหมอง หันหลังให้กับพระเจ้า และหันหลังให้กับชีวิตที่แท้จริงของตนเอง แต่ในประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้น พระเจ้าไม่เคยทอดทิ้งมนุษย์ ไม่ว่าจะปฏิบัติตนเหินห่างจากพระเจ้ามากสักเพียงใด พระคัมภีร์เป็นพยานในเรื่องนี้ โดยเฉพาะในคำสอนและชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้าแสดงให้เห็นถึง “ความรัก” ของพระเจ้าที่มีต่อคนบาป ไม่ได้ทรงรอให้กลับมาเหมือนบิดาผู้ใจดีเท่านั้น แต่ตามหาเหมือนผู้เลี้ยงแกะที่ตามหาแกะที่หายไป เมื่อพบแล้วก็แบกใส่บ่ากลับบ้านด้วยความยินดี พระองค์มิได้ทรงสอนเรื่องการให้อภัยเท่านั้น ทรงให้อภัยด้วย ทรงคบหาสมาคมกับคนบาป รับประทานอาหารกับพวกเขา ทรงเรียกเขาให้เป็นศิษย์ ความสัมพันธ์นี้เป็นความสัมพันธ์ที่ “เสมอภาค” พระเจ้าไม่อาจบังคับมนุษย์ได้ เขามีเสรีภาพที่จะเลือกตัดสินใจเอง ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับพระเจ้าในพันธสัญญาเดิมคือภาพของเสรีภาพนี้ จนกระทั่งเมื่อพระเยซูคริสตเจ้าทรงปรากฏมา มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้ยอมรับพระองค์

คริสตชนเชื่อว่าบาปมีรากเหง้าอยู่ใน “หัวใจ” ของมนุษย์ พระคัมภีร์เปรียบเทียบชาวอิสราเอลในพันธสัญญาเดิมว่ามี “หัวใจหิน” แต่พระเจ้าทรงปรารถนาให้พวกเขามี “หัวใจเลือดเนื้อ” ธรรมชาติมนุษย์เป็นธรรมชาติที่มีความบาป แต่พระเยซูคริสตเจ้าได้ทรงให้ธรรมชาติที่มีบาปนี้ตายพร้อมกับพระองค์ มนุษย์คนใหม่ที่มีหัวใจใหม่เกิดขึ้นพร้อมกับการกลับคืนพระชนม์ของพระองค์ การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูคริสตเจ้า คือ การที่มนุษย์ได้ “คืนดี” (Reconciliation) กับพระเจ้า กลับเข้ามาสู่หนทางแห่งความรอดพ้นอีกครั้งหนึ่ง (2 คร 5: 18-21) พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็น “หนทาง ความจริงและชีวิต” สิ่งที่มนุษย์ต้องทำคือ “กลับใจ” ด้วยการเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนเองและดำเนินชีวิตตามวิถีทางใหม่นี้พร้อมกับพระเยซูคริสตเจ้า

พื้นฐานของการกลับใจและพื้นฐานของศีลอภัยบาป คือ ศีลล้างบาป (กจ 2: 38; รม 6; 1 รม 6: 1คร 6: 11) ศีลมหาสนิทเอง คือ การประกาศการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสตเจ้า และการให้อภัยบาป (มธ 26: 28, 1 คร 11: 26) พระศาสนจักรเองก็สารภาพบาปของตนเองด้วยเมื่อสวดภาวนาบท “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” ที่พระเยซูทรงสอน “โปรดให้อภัยความผิดของข้าพเจ้าทั้งหลาย เหมือนที่ข้าพเจ้าทั้งหลายให้อภัยแก่ผู้ทำผิดต่อข้าพเจ้าทั้งหลาย” (มธ 6: 12) ทำการใช้โทษบาป เฝ้าระวังตื่นอยู่เสมอ และ “ให้ทาน” เพื่อแสดงออกถึงความสำนึกในบาปและการกลับใจ (มธ 6: 1-18, 9: 15, มก 9: 29) ช่วยเหลือกันในการแก้ไขความผิดต่างๆ (มธ 18: 15)

คริสชตนเชื่อว่าพระศาสนจักรได้รับมอบอำนาจจากพระเยซูคริสตเจ้าให้ “ผูก” (มก 3: 27) และ “แก้” (1 ยน 3: 8) จากอำนาจของบาปและความชั่วร้าย สมาชิกของพระศาสนจักรคนใดที่ไม่ยอมแก้ไข ผู้นั้นก็ไม่เป็นสมาชิกของพระศาสนจักรอีกต่อไป ความเชื่อนี้เป็นพื้นบนแนวคิดเกี่ยวกับการให้อภัยบาป และการตัดบุคคลบางคนออกจากการเป็นสมาชิกของพระศาสนจักร (Excommunication) แต่ความคิดนี้ได้เลยเถิดไปถึงขั้นที่มีบางพวกบางกลุ่มในยุคแรกที่เห็นว่า พระศาสนจักรซึ่งเปรียบเสมือนเป็นพระกายศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูคริสตเจ้า จะต้องประกอบด้วย “ผู้ศักดิ์สิทธิ์” ปราศจากบาปเท่านั้น ใครทำบาป ผู้นั้นขาดจากสมาชิกภาพทันที ซึ่งเป็นแนวคิดที่พระศาสนจักรถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะจริงๆ แล้วมนุษย์ยังเป็นคนบาป และอาจทำบาปได้ แต่เขาต้อง “กลับใจ” และเริ่มต้นชีวิตใหม่ทุกครั้งที่ได้กระทำผิด ไม่สิ้นหวัง ไม่ลงโทษตัวเอง แม้แต่พระเจ้าก็ยังทรงให้โอกาสมนุษย์ก็ควรทำเช่นนั้นด้วย ด้วยเหตุนี้ พระศาสนจักรจึงถือว่า ศีลอภัยบาป คือศีลศักดิ์สิทธิ์ที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงตั้งขึ้นเพื่อให้มนุษย์สามารถ “คืนดี” กับพระเจ้าได้ตลอดเวลา

ข) รูปแบบและองค์ประกอบของพิธี

ในยุคแรก ๆ ของพระศาสนจักร การสารภาพบาปกระทำพร้อมกันในภาคแรกของการถวายมิสซาบูชาขอบพระคุณ โดยเฉพาะบาปอันเป็นที่รู้เห็นกันในสาธารณะและมีผลกระทบเป็นที่สะดุดต่อผู้อื่น เช่น การล่วงประเวณีกับคนอื่น ที่ไม่ใช่คู่สมรสของตน การฆ่าคน ต้องสารภาพบาปดังกล่าวต่อหน้าประชาคม และต้องได้รับ “โทษ” หรือการ “ใช้โทษบาป” ต่อหน้าคนอื่นด้วย ต่อมาในต้นยุคกลาง ประเพณีนี้ได้เปลี่ยนไปเป็นการสารภาพบาปส่วนตัวกับศาสนบริกรสงฆ์ ซึ่งพิจารณาความผิดและการใช้โทษบาปเป็นกรณีไป อย่างไรก็ดี สำหรับบาปที่รู้กันในสาธารณะก็ยังให้ใช้โทษบาปในที่สาธารณะด้วย พิธีกรรมนี้ได้มีลักษณะที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยพระศาสนจักรได้ออกกฎเกณฑ์ที่ว่าด้วยการใช้โทษบาปต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันคงเหลือแต่เพียงหลักเกณฑ์ที่ศาสนบริกรสงฆ์จะพิจารณาแต่ละกรณีไป ว่าผู้ที่ทำบาปควรจะใช้โทษบาปอย่างไร เงื่อนไขของศีลอภัยบาป หรือการที่บุคคลผู้หนึ่งจะ “คืนดี” กับ พระเจ้าอย่างสมบูรณ์ ได้แก่

- ความสำนึกผิด เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด หากไม่มีการ “กลับใจ” ส่วนอื่นๆ ก็ไม่มีความหมาย สำนึกนี้ทำให้เห็นว่า บาปเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ขาดความสัมพันธ์กับพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ บาปคือสาเหตุแห่งทุกข์และความชั่วร้ายทั้งมวล เขาปรารถนาจะคืนดีกับพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์

- การสารภาพบาป คือการไปสารภาพความผิดบาปหนักต่างๆ กับศาสนบริกรสงฆ์ซึ่งเป็นผู้แทนของพระเจ้า เป็นการแสดงออกถึงการกลับใจของตนเอง พร้อมที่จะได้รับการอภัย

- การอภัยบาป ศาสนบริกรสงฆ์ซึ่งเป็นผู้แทนของพระเจ้าได้รับสิทธิอำนาจให้ผูกหรือแก้ได้ จะรับฟังบาปต่างๆ แนะนำวิธีแก้ไขและดำเนินชีวิตใหม่ ให้ชดเชยความผิดในลักษณะที่เหมาะสม และท้ายที่สุดจะยกบาปให้ โดยศาสนบริกรสงฆ์จะสวดบทภาวนาว่า “พระเจ้า พระบิดาผู้ทรงเมตตาได้ทรงทำให้โลกคืนดีกับพระองค์ อาศัยการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระบุตร และทรงส่งพระจิตมาเพื่ออภัยบาปมนุษย์ ขอพระองค์ประทานพระเมตตาและสันติสุขแก่ท่านอาศัยศาสนบริกรของพระศาสนจักร ข้าพเจ้าจึงอภัยบาปทั้งสิ้นของท่าน เดชะพระนาม พระบิดา พระบุตร และพระจิต”

- การใช้โทษบาป การไปสารภาพบาป และการที่ศาสนบริกร สงฆ์ยกบาปให้ยังไม่ได้ หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างเสร็จสิ้นบริบูรณ์แล้ว ผู้ที่กระทำบาปต้องไปชดใช้สิ่งที่ได้กระทำไป ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้อื่นต้องทำให้ดีเช่นเดิม การผิดต่อความยุติธรรม และความรักและบัญญัติข้ออื่นๆ จะต้องได้รับการชดเชย ตามที่ศาสนบริกรสงฆ์จะพิจารณาและกำหนดให้

พิธีศีลอภัยบาปไม่ใช่เรื่อง “ส่วนตัว” เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของพระศาสนจักรทั้งหมดในฐานะหมู่คณะ (Community) จึงมีการสารภาพบาปพร้อมกันทุกครั้งก่อนพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ และการที่แต่ละคนไปสารภาพบาป ก็กระทำในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของพระศาสนจักร เพื่อทำให้พระกายของพระเยซูคริสตเจ้า (พระศาสนจักร) ศักดิ์สิทธิ์ไป
2.2.2) ศีลเจิมคนไข้ (Anointing of the Sick) : การบำบัดรักษา

ก) ความเป็นมาและความหมาย

การเจิมด้วยน้ำมัน เป็นประเพณีที่มีอยู่ทั้งในพระคัมภีร์ มีความหมายว่า พระเจ้าทรงเลือกสรรบุคคลที่ได้รับการเจิมนั้น แต่ก็มีประเพณีที่ใช้น้ำมันชโลมเพื่อรักษาคนไข้ บรรดาสาวกซึ่งพระเยซูทรงใช้ออกไปเทศนา และรักษาคนเจ็บได้ใช้น้ำมัน “ได้ขับไล่ปีศาจจำนวนมาก ได้เจิมน้ำมันผู้เจ็บป่วยหลายคน และรักษาเขาให้หายจากโรคภัย” (มก 6:13) และที่นักบุญยากอบ ได้เขียนไว้ว่า “ท่านใดเจ็บป่วย จงเชิญบรรดาผู้อาวุโสของกลุ่มคริสตชนมา ให้ท่านเหล่านั้นอธิษฐานภาวนาเพื่อผู้ป่วย เอาน้ำมันเจิมผู้นั้นในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (ยก 5: 14) การรักษาคนเจ็บป่วยที่พระเยซูคริสตเจ้าได้ทรงกระทำ (มก 9: 35) และบรรดาสาวกก็ทำได้ด้วยเช่นกัน (มธ 10: 1, ลก9: 1, มก 6: 7, 13) นี่เป็นเครื่องหมายของอาณาจักรพระเจ้า ที่จะไม่มีความเจ็บป่วยและความตายอีกต่อไป (มธ 10: 4, และ อสย 35: 5, 61: 1) เมื่อพระเมสสิยาห์เสด็จมาพระองค์ทรงชนะบาป อันเป็นเหตุแห่งความเจ็บป่วยและความตาย พระองค์ทรงให้อภัยคนบาป การรักษาคนเจ็บคือเครื่องหมายหนึ่งของการให้อภัยนั้น เนื่องจากผู้ที่หายก็ล้วนแต่แสดงออกถึงความเชื่อในพระองค์ ประเพณีการเจิมคนไข้ด้วยน้ำมันในยุคแรกๆ นั้นมีจุดหมายเพื่อรักษาทั้งกายและวิญญาณ ซึ่งกระทำทั้งเป็นการส่วนตัวในบ้าน โดยญาติพี่น้องเจิมคนเจ็บด้วยน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็มีพิธีการเจิมโดยมุขนายกและศาสนบริกรสงฆ์ในกรณีผู้ป่วยหนัก ด้วยเหตุนี้จึงเป็นประเพณีเรียกศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ว่า “ศีลทาสุดท้าย” (Extreme Unction) ทำให้เป็นที่หวาดกลัวแก่คริสตชน เพราะเมื่อการรับศีลนี้ต่างก็คิดว่า คนเจ็บคงสิ้นชีวิตแน่ๆ

ข) รูปแบบของพิธีกรรม

ศีลเจิมคนไข้ไม่ใช่พิธีกรรมสำหรับคนที่กำลังจะตาย เพื่อเป็นการ “ส่งคนตาย” แต่เป็นพิธีกรรมเพื่อคนที่เจ็บหนัก ซึ่งมีแนวโน้มจะถึงแก่ความตาย เพื่อแสดงว่าพระเยซูคริสตเจ้าซึ่งเสด็จมาพบเขาได้ทรงชนะความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมานและความตายแล้ว หากว่าเขาจะต้องตาย เขาก็ตายร่วมกับพระเยซูคริสตเจ้าในธรรมล้ำลึกปัสกาของพระองค์ซึ่งจะทำให้เขากลับคืนชีพอีก อาจเป็นได้ที่การเจิมคนไข้จะทำให้ผู้ป่วยหายด้วย ซึ่งก็อาจเป็นผลที่มาจากจิตใจที่เข้มแข็งความเชื่อและพระเมตตาของพระเจ้าซึ่งไม่อาจหาคำอธิบายได้มากกว่านี้ แต่พิธีศีลเจิมคนไข้ไม่ใช่ “ยาวิเศษ” เพื่อรักษาโรคทางร่างกาย การหายโรคอาจเป็นผลตามมาของการหายโรคทางวิญญาณมากกว่า เพราะว่าพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์นี้สามารถทดแทนศีลอภัยบาปได้ คือ ลบล้างบาปได้ แต่ผู้รับเองก็ต้องพร้อมทางจิตใจ มีความสำนึกในบาปด้วย จึงอาจเป็นได้ที่สภาพจิตใจที่เข้มแข็งจะช่วยให้ร่างกายหายจากโรคได้ด้วย ดังบทภาวนาของศาสนบริกรสงฆ์ระหว่างที่เสกน้ำมันในระหว่างพิธีโปรดศีลนี้ว่า

“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าพระบิดาผู้ประทานความบรรเทาทุกประการพระองค์ได้ทรง ส่งพระบุตรมาบำบัดความทุกข์เข็ญของบรรดาผู้ป่วย ขอทรงพระกรุณาสดับฟังข้าพเจ้าทั้งหลายภาวนาด้วยความเชื่อ โปรดส่งพระจิตองค์ผู้บรรเทาจากสวรรค์มาเสกน้ำมันนี้ ซึ่งเป็นผลผลิตของธรรมชาติ เป็นน้ำมันสำหรับชูกำลังกายขอให้ผู้ที่ได้รับการเจิมพ้นความเจ็บปวด ความอ่อนแอและความเจ็บไข้ทั้งสิ้น กลับหายเป็นปกติทั้งกายและวิญญาณเทอญ...”

ค) การรับศีลเจิมผู้ป่วย

ศีลเจิมคนไข้นี้สามารถรับได้หลายครั้งตามความเหมาะสมในกรณีที่เห็นว่าผู้ป่วยอยู่ในอันตรายหรือป่วยหนัก ญาติพี่น้องจะไปเชิญศาสนบริกรสงฆ์ให้มาประกอบพิธีกรรม โดยปกติศาสนบริกรสงฆ์จะทำพิธีกรรมทั้งหมดหากไม่เป็นการรีบด่วน เริ่มต้นด้วยการอ่านข้อความจากพระคัมภีร์ การเทศน์สอนเตือนใจ การปกมือเหนือศีรษะคนไข้ การเจิมน้ำมันที่หน้าผากและที่มือ ถ้าหากผู้ป่วยหมดสติหรือไม่รู้ตัวก็สามารถทำพิธีได้เช่นเดียวกัน โดยมีเงื่อนไขว่าหากรู้ตัวและอยู่ในสภาพที่ทำได้ก็ควรรับตามประเพณีพิธีกรรมทั้งหมดอีก ในกรณีที่สิ้นชีวิตแล้ว ศาสนบริกรสงฆ์ก็จะไม่ประกอบพิธีแต่จะภาวนาขอพระเจ้าอภัยบาปให้ ในกรณีที่ไม่แน่ใจว่าสิ้นชีวิตหรือยัง ก็สามารถประกอบพิธีได้โดยมีเงื่อนไขว่า “หากท่านยังมีชีวิตอยู่...”
2.3) ศีลศักดิ์สิทธิ์ที่เสริมสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันในภารกิจของพระศาสนจักร
พระศาสนจักรยังมีศีลศักดิ์สิทธิ์อีกสองประการที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงตั้งขึ้น ได้แก่ศีลบวชและศีลสมรส อันเป็นการเสริมสร้างเป็นหนึ่งเดียวกันในภารกิจพิเศษในพระศาสนจักรและช่วยเสริมสร้างประชากรของพระเจ้า
2.3.1) ศีลบวช

ก) ความเป็นมาและความหมาย

พระศาสนจักรในฐานะที่เป็นสถาบันศาสนาที่มีรูปแบบทางสังคม มีโครงสร้างซึ่งสืบทอดและพัฒนาขึ้นมาจากประเพณีของอิสราเอลในพันธสัญญาเดิมของบรรดาอัครสาวกและคริสตชนในยุคแรกๆ อันเนื่องมาจากคำสั่งสอนและการปฏิบัติของพระเยซูคริสตเจ้า และการประยุกต์เข้ากับสภาพแวดล้อมทางสังคมในตะวันตกจากพื้นฐานความเชื่อของการเป็นประชากรของพระเจ้า เป็นประชาคมของผู้ที่ได้รับการเลือกสรรจากพระเจ้าไม่ได้หมายความว่า ทุกคนเท่าเสมอกันในหน้าที่ในประชาคมนี้ ทุกคนมีพระพรพิเศษของพระเจ้าให้ทำหน้าที่พิเศษของตนเองดังที่อวัยวะต่างๆ ในร่างกายย่อมมีหน้าที่ต่างๆ กันไป (1 คร 12) มีการเปรียบเทียบว่า พระศาสนจักรมีแต่เพียงศีรษะเดียว คือ พระเยซูคริสตเจ้าก็จริง แต่ในประชาคมก็มี “ผู้แทน” ซึ่งพระองค์ได้ทรงมอบอำนาจให้กระทำหน้าที่ต่างๆ ประเพณีเหล่านี้คือพื้นฐานความเป็นมาของศีลศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวกับมุขนายกและศาสนบริกรสงฆ์ หรือศีลบวช

ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม กล่าวถึงการที่พระเจ้าทรงเลือกสรรชนชาติอิสราเอลให้เป็นชนชาติศักดิ์สิทธ์ (การเป็นประชากรของพระเจ้า) และพระองค์ทรงเลือกตระกูลหนึ่งจากสิบสองตระกูล (ตระกูลเลวี) (อพย 19: 6) ให้เป็น “ตระกูลสมณะ” มีหน้าที่เป็นตัวแทน (คนกลาง) ระหว่างพระเจ้ากับประชากรของพระองค์ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับประชากรของพระองค์โดยผ่านทางการประกอบพิธีกรรม ในพันธสัญญาใหม่ พระเยซูในฐานะ “คนกลางระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า” ทรงเป็น “สงฆ์แต่องค์เดียว” ได้ทรงเลือกสาวกจำนวนหนึ่งให้อยู่ใกล้ชิดกับพระองค์ตลอดเวลา จำนวนและรายชื่อที่ชัดเจนคือ 12 ท่าน ซึ่งเท่ากับจำนวนของตระกูลอิสราเอล (มธ 19: 23, ลก 22: 28-30) สาวกทั้ง 12 เป็นต้นกำเนิดของประชากรใหม่ของพระเจ้า เป็นผู้ช่วยพระเยซูคริสตเจ้าในการประกาศอาณาจักรของพระเจ้า (มก 6: 7-13, ลก 9: 1-6) มีหน้าที่พิเศษ ดังจะเห็นได้จากกิจการต่างๆ หลังจากที่พระเยซูทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว เนื่องจากพวกท่านคือผู้ที่ได้ร่วมชีวิต ได้เห็นพระเยซูคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพ (ลก 24: 48-49, กจ 1: 4-11) พวกท่านมีหน้าที่ “รับใช้” เหมือนที่พระเยซูคริสตเจ้าได้ทรงกระทำเป็นแบบอย่าง (มธ 23: 11, ยน 12: 25, มก 9: 35, 10: 43, 20: 26-28) พวกท่านจะต้องเป็นพยานชีวิตและคำสอนของพระเยซูคริสตเจ้า ประกาศอาณาจักรของพระเจ้า ดูแลรักษา “ฝูงแกะ” ของพระองค์ (มธ 9: 35-38) รวมทั้งสาวกอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ผู้นำ (1 ปต 5: 2)

ในพันธสัญญาเดิม พระยาห์เวห์ทรงเป็น “ศิลา” ของอิสราเอล ในพระวรสาร ปิเตอร์คือ “ศิลา” ของพระศาสนจักร (ดู มธ 16: 13-20) และสาวกทั้งสิบสองคือ “เสาหลัก” หรือรากฐาน (อฟ 2: 20, วว 21: 24) พระเยซูคริสตเจ้าทรงรับทรมานเพื่ออาณาจักร บรรดาสาวกก็ได้รับทรมานเช่นเดียวกัน สาวกทั้ง 12 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “อัครสาวก” ตามความหมายเดิมหมายถึงผู้ที่เป็นพยานถึงการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูคริสตเจ้า หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายหน้าที่พิเศษจากพระองค์ เปาโลจึงเป็นอัครสาวกผู้หนึ่งด้วย แม้ว่าจะไม่เคยร่วมชีวิตกับพระเยซูโดยตรง แต่พระคัมภีร์เล่าว่าท่านได้ “พบ” พระเยซู (ผู้กลับคืนชีพ) ขณะเดินทางไปจับกุมศิษย์ของพระเยซูที่เมืองดามัสกัส และพระองค์ทรงเรียกให้เป็นศิษย์ของพระองค์ ประกาศอาณาจักรของพระเจ้า

ข) รูปแบบพิธีกรรม

การแต่งตั้ง (ซึ่งพัฒนาเป็นการบวช) สมาชิกของพระศาสนจักรที่คริสตชนเชื่อว่าได้รับเลือกสรรจากพระเจ้า เข้าสู่กระบวนการศึกษาอบรม (Seminary) และได้รับการรับรองจากพระศาสนจักร ผ่านทางผู้ได้รับมอบหมายให้การศึกษาอบรม (Formator) มีพื้นฐานจากชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้าที่ได้มอบแก่อัครสาวกและผู้สืบตำแหน่งของพวกท่าน “ศีลบวช” คงไม่ได้มาจากประเพณีที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงกระทำกับบรรดาอัครสาวก แต่เป็นสิ่งที่พระศาสนจักรในยุคแรก โดยการนำของอัครสาวกที่ได้ใช้พิธีการปกมือเหนือศีรษะ เพื่อเป็น “พิธี” การบวชศาสนบริกรสงฆ์ ทั้งนี้ก็เป็นการสืบทอดประเพณีของพันธสัญญาเดิมและที่พระเยซูคริสตเจ้าเองก็ทรงกระทำเมื่อทรงปกมือเหนือคนป่วยที่ทรงรักษา การปกมือเป็นการอวยพร เป็นเครื่องหมายของการเลือกสรรของพระเจ้า พระจิตของพระองค์สถิตในตัวผู้นั้น

ค) ลำดับขั้นของศาสนบริกรสงฆ์และผู้ประกอบพิธี

ในส่วนที่เกี่ยวกับลำดับขั้น (Hierarchy) ของศาสนบริกรสงฆ์ ต้องพิจารณาจากประเพณีของพระศาสนจักร ตั้งแต่ในยุคแรกนั้นถือว่ามุขนายก (ผู้อาวุโส) คือ “ศาสนบริกรสงฆ์” ในอันดับแรก ท่านเป็นผู้ได้รับพระหรรษทานของพระจิตเป็นพิเศษ ( 1 คร 2: 14) ศาสนบริกรสงฆ์เป็น “ผู้ช่วย/ผู้ร่วมงาน” ของมุขนายก ประเพณีว่าด้วยการบวชปรากฏเป็นหลักฐานชัดเจนนับแต่ต้นศตวรรษที่สาม ดังในหนังสือที่ว่าด้วยพิธีกรรมการบวชของฮิปโปลิตแห่งโรม (ราว ค.ศ. 230) ที่ระบุว่ามุขนายกจะได้รับการปกมือโดยมุขนายกอื่นๆ ศาสนบริกรสงฆ์จะได้รับการปกมือจากมุขนายก และสังฆานุกร (Deacon) ก็ได้รับการบวชจากมุขนายกเช่นกัน

ง) ผลของศีลบวช

ศีลบวชหมายถึงการที่พระเจ้าทรงเลือกสรรสมาชิกของพระศาสนจักรบุคคลบางท่านให้ทำหน้าที่พิเศษ สู่การรับใช้ภารกิจของพระศาสนจักรเป็นพิเศษ ประเพณีของพระศาสนจักรถือว่า ศีลบวชนี้ประทับ “ตรา” ไว้ในบุคคลผู้รับ ทำให้เขาเป็น “ผู้แทนของพระเยซูคริสตเจ้าบนโลก” การเน้น “ตรา” นี้ทำให้มีการจำกัดหน้าที่ของการรับใช้พระศาสนจักรสำหรับศาสนบริกรสงฆ์ สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ได้ให้โอกาสแก่ฆราวาสมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้มากไปกว่านี้ ที่จริงเรื่อง “ตรา” เป็นเรื่องของสถานภาพของบุคคลผู้รับศีลบวช ซึ่งเข้ามามีส่วนร่วมกับคนอื่นๆ ในฐานะคณะหนึ่งเดียว เขามีหน้าที่พิเศษบางอย่างที่ทำให้เขาแตกต่างไปจากคนอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้แยกออกจากคนอื่นในกลุ่มคริสตชน พระศาสนจักรสามารถยกเลิกหน้าที่พิเศษสำหรับศาสนบริกรสงฆ์องค์หนึ่งองค์ใดได้ ไม่ว่าจะชั่วคราวหรือถาวรซึ่งเป็นเรื่องการบริหารมากกว่าที่จะเป็นเรื่องหลักความเชื่อ (Dogma) ศาสนบริกรสงฆ์ได้รับพระหรรษทานพิเศษจากพระจิตจากการรับศีลนี้ ทำให้ร่วมกับหมู่คณะศาสนบริกรสงฆ์ เพื่อร่วมกันทำหน้าที่ประกาศธรรมล้ำลึกความเชื่อ ประกอบพิธีกรรมและให้บริการแก่ประชาคมด้วยความเป็นหนึ่งเดียวกับมุขนายก โดยมีเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่อาณาจักรพระเจ้าในวาระสุดท้าย ภารกิจของศาสนบริกรสงฆ์จึงเป็นการเตรียมการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสตเจ้าและทำให้เป็นจริงในขณะปัจจุบัน
2.3.2) ศีลสมรส

ก) ความเป็นมาและความหมาย
ครอบครัวเป็นสถาบันแรก และพื้นฐานสำคัญที่สุดของสังคม ประวัติศาสตร์มนุษยชาติแสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิงฉันสามีภรรยาและบุตร ที่เกิดจากความสัมพันธ์นี้ ไม่ได้เป็นหน่วยชีวิตที่เป็นอยู่ในตัวมันเอง แต่มีความสัมพันธ์กับเอกภพ และอำนาจสูงสุดแห่งเอกภพนั้น เป็นภาพลักษณ์ของเอกภาพในเอกภพนั้น การแต่งงาน การมีชีวิตครอบครัวเป็นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญของมนุษย์

คำสอนเรื่องการแต่งงานในพระคัมภร์ภาคพันธสัญญาเดิม ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ความรอดพ้นในประวัติความเชื่อของชาวอิสราเอลก็มีลักษณะคล้ายกัน การเล่าเรื่องการสร้างมนุษย์ชี้ให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิงฉันสามีภรรยาเป็นกฎธรรมชาติ “มนุษย์เพียงคนเดียวนั้น ไม่ดีเลย เราจะสร้างผู้ช่วยที่เหมาะกับเขาให้” (ปฐก 2: 18) พระองค์ทรงอวยพรว่า “จงมีลูกมาก และทวีจำนวนขึ้นจนเต็มแผ่นดิน” (ปฐก 1: 28) ด้วยเหตุนี้ ชาวอิสราเอลในพันธสัญญาเดิมจึงเชื่อว่า มนุษยชาติเป็นแต่ครอบครัวเดียว การแต่งงานไม่ใช่การสร้างครอบครัวใหม่ แต่เป็นการสืบทอดครอบครัวเดียวนี้ให้คงอยู่และแพร่หลายต่อไป

ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ พระเยซูคริสตเจ้าทรงให้คุณค่าและความหมายของการแต่งงาน พระองค์ยังยืนยันว่าการแต่งงานหย่าร้างไม่ได้ (มธ 5: 32 และ 19: 9) นักบุญเปาโลอธิบายว่า การแต่งงานเป็นสิ่งสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างพระเยซูคริสตเจ้ากับพระศาสนจักร (อฟ 5: 21-33) ในที่นี้ไม่ได้เป็นแต่การเปรียบเทียบ แต่เป็นการยืนยันว่าการแต่งงานมีรากฐานอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างพระเยซูคริสตเจ้ากับพระศาสนจักรของพระองค์ การแต่งงานไม่ใช่เรื่อง “ส่วนตัว” เท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกลุ่มคริสตชนซึ่งเป็นประชากรของพระเจ้า และเป็นพระกายของพระเยซูคริสตเจ้า นี่คือเอกภพเล็กในเอกภพสากล ซึ่งสัมพันธ์กันเป็นองคาพยพ (Organic one) ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาในฐานะเป็นสถาบันครอบครัวที่พวกเขาร่วมกันก่อตั้งขึ้น จึงเป็นสถาบัน “ศักดิ์สิทธิ์” ความสัมพันธ์นี้จึงไม่สามารถจะยกเลิกกันเองได้ หรืออีกนัยหนึ่ง หย่าร้างกันมิได้

ข) พื้นฐานและอัตลักษณ์การแต่งงานแบบคริสตชน

การแต่งงานของคริสตชนถือเป็น “ศีลศักดิ์สิทธิ์” ที่พระเจ้าประทานพระพรพิเศษต่อการดำเนินชีวิตครอบครัว จึงจำเป็นต้องมีพื้นฐานอยู่บนความสมัครใจ ของบ่าวสาวที่มีความรักซึ่งกันและกันอย่างจริงใจ และมอบตนเองแก่กันและกันด้วยการดำเนินชีวิตตามคำสัญญาแห่งความรักว่าจะซื่อสัตย์ต่อกันและกันจนตลอดชีวิต อัตลักษณ์การแต่งงานของคริสตชนที่สำคัญ ได้แก่

- การเป็นหนึ่งเดียวกัน ในความหมายของการเท่าเสมอกันของบ่าวสาวในชีวิตครอบครัว ซึ่งเรียกร้องให้เป็นแบบ “สามีเดียว ภรรยาเดียว”

- การหย่าร้างไม่ได้ เนื่องจากพระเจ้าทรงโปรดรวมให้บ่าวสาวเป็นหนึ่งเดียวกัน ดังนั้น จึงหย่าร้างหรือแยกจากกันไม่ได้

- การแต่งงานมีเป้าหมายเพื่อช่วยกันและกันสู่ชีวิตที่สมบูรณ์และการน้อมรับ “บุตร” ที่พระเจ้าประทานให้เพื่อการมีส่วนร่วมในการสร้างของพระเจ้า และเป็นหน้าที่ของบิดามารดาในการอบรมเลี้ยงดูบุตรที่พระเจ้าประทานให้อย่างดี

ค) รูปแบบของการประกอบพิธีกรรม

พิธีแต่งงานในศาสนาคริสต์ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงศตวรรษที่สี่กระทำกันตามบ้านคริสตชนเช่นเดียวกับการร่วมสวดภาวนาและการประกอบพิธีกรรมอื่นๆ เริ่มมีพิธีแต่งงานในโบสถ์ตั้งแต่ราวศตวรรษที่สี่เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม พิธีการแต่งงานก็มีลักษณะเรียบง่ายมาจนถึงปัจจุบัน โดยผู้ประกอบพิธี คือ เจ้าบ่าวและเจ้าสาวนั่นเอง ศาสนบริกรสงฆ์เป็นแต่เพียงพยานทางการของพระศาสนจักร รวมทั้งกลุ่มคริสตชนที่ร่วมอยู่ในพิธีนั้นด้วย เพื่อแสดงว่า การแต่งงานมีมิติทางสังคมของพระศาสนจักรและเกี่ยวโยงถึงความหมายของอาณาจักรพระเจ้าด้วย เนื่องจากความหมายของการแต่งงานหรือความสัมพันธ์ระหว่างสามีและภรรยาอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ ระหว่างพระเยซูคริสตเจ้ากับพระศาสนจักรของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ “มนุษย์จึงไม่มีสิทธิ์แยกทั้งสองคนจากกัน” พิธีการแต่งงานจึงเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ เป็นเครื่องหมายและเครื่องมือสำหรับความรอดพ้น เป็นพระหรรษทานพิเศษที่พระเจ้าประทานให้แก่สามีภรรยาเพื่อจะได้ดำเนินชีวิต เป็นพยานถึงความสัมพันธ์ที่พระเจ้าทรงมีต่อมนุษย์ ความรักที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงมีต่อพระศาสนจักร

ตามปกติ พิธีกรรมการแต่งงานจะกระทำระหว่างพิธีบูชาขอบพระคุณ หลังจากภาควจนพิธีกรรม ศาสนบริกรสงฆ์จะไปยืนต่อหน้าคู่บ่าวสาว โดยมีพยานเป็นชายหญิงอีกคู่หนึ่งอยู่ด้วย ส่วนสำคัญที่สุดของพิธีกรรมนี้อยู่ที่คำประกาศของคู่แต่งงานที่ว่า “ฉันขอรับเธอเป็นภรรยา (สามี) และขอสัญญาว่าจะซื่อสัตย์ต่อเธอทั้งในยามสุขและในยามทุกข์ ทั้งในเวลาป่วยและเวลาสบาย และจะยกย่องให้เกียรติเธอจนกว่าชีวิตจะหาไม่” และเมื่อทั้งสองสวมแหวน ซึ่งศาสนบริกรสงฆ์เสกนั้นแก่กัน พร้อมกับกล่าวว่า “ขอให้รับแหวนวงนี้ เพื่อเป็นเครื่องหมายถึงความรักและความซื่อสัตย์ของฉัน”

ข. การฉลองพิธีกรรมอื่นๆ ได้แก่การประกอบพิธีสิ่งคล้ายศีลศักดิ์สิทธิ์

นอกจากการประกอบพิธีกรรม (พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ทั้งเจ็ดประการ) พระศาสนจักรคาทอลิกยังมีพิธีกรรมในรูปแบบที่เรียกว่า สิ่งคล้ายศีลศักดิ์สิทธิ์ อันหมายถึง เครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์ซึ่งคล้ายกับศีลศักดิ์สิทธิ์ พระศาสนจักรได้ตั้งสิ่งคล้ายศีลศักดิ์สิทธิ์ขึ้นเพื่อให้คริสตชนได้รับพระพรจากพระเจ้าอาศัยคำภาวนาของพระศาสนจักร เพื่อการเตรียมพร้อมที่จะรับผลของศีลศักดิ์สิทธิ์ต่อไป (CCC, 1994: 1667 – 1690)

1) ลักษณะของสิ่งคล้ายศีลศักดิ์สิทธิ์

สิ่งคล้ายศีลศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งที่พระศาสนจักรตั้งขึ้นเพื่อตระเตรียมมนุษย์ให้ได้รับผลของศีลศักดิ์สิทธิ์และทำให้สภาพแวดล้อมของชีวิตตามสถานะของแต่ละคนได้รับพระพรจากพระเจ้า โดยขึ้นกับความเชื่อศรัทธาของแต่ละคนที่ร่วมพิธีนั้น ๆ และการอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักรที่วอนขอพระพรจากพระเจ้าบางประการแก่ผู้ร่วมพิธี

2) รูปแบบ/ประเภทของสิ่งคล้ายศีลศักดิ์สิทธิ์

รูปแบบของสิ่งคล้ายศีลศักดิ์สิทธิ์ได้แก่ การทำเครื่องหมายกางเขน การพรมน้ำเสก การปกมือ การอวยพร (การอวยพรบุคคล อาหาร วัตถุสิ่งของและสถานที่) หรือการเสกซึ่งถือเป็นการวอนขอพระพรจากพระเจ้าเพื่อบุคคลหรือสิ่งนั้น ๆ นอกจากนั้นยังมีกิจศรัทธาต่าง ๆ ที่พระศาสนจักรส่งเสริมให้คริสตชนปฏิบัติเพื่อรับพระพรจากพระเจ้า ได้แก่ การให้ความนับถือพระธาตุ การไปจาริกแสวงบุญสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ การแห่ การเดินรูปสิบสี่ภาค (ระลึกถึงพระมหาทรมานของพระเยซูคริสตเจ้า) การสวดสายประคำ การทำนพวาร การอดเนื้อ อดอาหาร ฯลฯ เพื่อเป็นการส่งเสริมความศรัทธาของคริสตชนต่อพระเจ้า

นอกจากนั้นยังมีธรรมเนียมการฝังศพแบบคริสตชน ถือว่าเป็นการประกอบพิธีกรรมของพระศาสนจักร เพื่ออำลาและภาวนาอุทิศแก่ผู้ล่วงลับ และการถวายผู้ล่วงลับแด่พระเจ้า

ค. ปีพิธีกรรมและวันฉลองที่สำคัญ

คริสตชนรับธรรมเนียมของศาสนายูดาห์ที่ได้ทำวันฉลองต่าง ๆ ในวันที่กำหนดไว้ตลอดปี ตามธรรมเนียมคริสตชนที่สืบเนื่องจากอัครสาวกให้ความสำคัญแก่วันที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงกลับคืนชีพ ซึ่งคริสตชนเรียกว่า “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ คริสตชนมาร่วมฉลองธรรมล้ำลึกในชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้า ตามแผนการแห่งความรอดพ้น จึงมีการกำหนดให้วันอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของการชุมนุมทางพิธีกรรม ด้วยการมาฟังพระวาจาของพระเจ้าและร่วมในพิธีบูชาขอบพระคุณ เพื่อจะได้มีส่วนร่วมในธรรมล้ำลึกของพระเยซูคริสตเจ้า ผู้ทรงบังเกิด ดำเนินชีวิต รับทรมาน สิ้นพระชนม์ การกลับคืนชีพและรับเกียรติรุ่งโรจน์ อาศัยการเฉลิมฉลองในพิธีกรรม (CCC, 1994: 1163 – 1199)

1) ความหมายของปีพิธีกรรม

พระศาสนจักรได้นำธรรมล้ำลึกในชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้ามาเฉลิมฉลองในพิธีกรรมตลอดปี โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่การเฉลิมฉลองการกลับคืนชีพของพระเยซูคริสตเจ้า (ซึ่งคริสตชนเรียกว่า “สมโภชปัสกา”) และจัดการเฉลิมฉลองเป็นวงจรตลอดปี การสมโภชตามเวลาระหว่างปี มีสองวงจรที่สำคัญ คือ วันคริสตสมภพ กับวันปัสกา วันสมโภชทั้งสองนี้ (คริสตสมภพและปัสกา) มีลักษณะเป็น “วาระ” หรือ ช่วงเวลา หรือเทศกาล เริ่มด้วยช่วงเวลาของการเตรียมจิตใจก่อนการเฉลิมฉลอง เรียกว่าเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า (เตรียมคริสตสมภพ) และเทศกาลมหาพรต (เตรียมปัสกา) เพื่อให้คริสตชนมีความพร้อมในการเฉลิมฉลองการสมโภชสำคัญทั้งสอง (การบังเกิดและการกลับคืนชีพของพระเยซูคริสตเจ้า) การฉลองทั้งสองดำเนินไปพร้อมทั้งมีตรีวารสามวันก่อนวันฉลองปัสกา (ซึ่งคริสตชนเรียกว่าวันพฤหัสศักดิ์สิทธ์ ศุกร์ศักดิ์สิทธ์และเสาร์ศักดิ์สิทธิ์) ส่วนช่วงเวลาที่เหลือที่อยู่นอกช่วงเวลาการเฉลิมฉลองที่สำคัญทั้งสอง (คริสตสมภพและปัสกา) เรียกว่า “นอกเทศกาล” หรือ “เทศกาลธรรมดา” (Ordinary Time) เพื่อรำลึกถึงธรรมล้ำลึกในการดำเนินชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้า

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า การเฉลิมฉลองพิธีกรรมของคริสตชนมีลักษณะเป็น “ปีพิธีกรรม” เพราะมีการกำหนดการเฉลิมฉลองตลอดปี อันประกอบด้วยเทศกาลคริสตสมภพและเทศกาลปัสกา (ก่อนถึงเทศกาลทั้งสอง มีช่วงเวลาของการเตรียมจิตใจ) ส่วนที่อยู่นอกกำหนดเวลาในเทศกาลทั้งสอง เรียกว่าเทศกาลธรรมดา นอกจากนั้น คริสตชนยังมีธรรมเนียมการเฉลิมฉลองวันสำคัญอื่น ๆ ของพระเยซูคริสตเจ้า พระนางมารีย์ และบรรดานักบุญต่าง ๆ ในช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองในเทศกาลคริสตสมภพ ปัสกาและเทศกาลธรรมดาด้วย การเรียงลำดับเวลาการเฉลิมฉลองพิธีกรรมตลอดปี จึงมีลักษณะและความหมายในภาพรวม ดังนี้ (เชษฐา ไชยเดช, ม.ป.ป.)



2) เทศกาล/วันฉลองสำคัญในพิธีกรรม

การเฉลิมฉลองพิธีกรรมของคริสตชนมีลักษณะเป็นวงจรตลอดปี (ปีพิธี กรรม) เริ่มต้นตั้งแต่เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระเยซูคริสตเจ้าจนสิ้นสุดปีปฏิทินพิธีกรรมโอกาสสมโภชพระเยซูคริสตเจ้า กษัตริย์แห่งสากลโลก (สัปดาห์ที่ 34 ของเทศกาลธรรมดา) การเฉลิมพิธีกรรมในรอบปีมีศูนย์กลางอยู่ที่ “พิธีบูชาขอบพระคุณ” ดังนั้น การฉลองพิธีกรรมโอกาสต่าง ๆ ในรอบปี (พิธีบูชาขอบพระคุณ) จึงเน้นการฉลองตามความหมายของการฉลองนั้น ๆ ในรูปแบบของการฟังพระวาจาของพระเจ้าและบทภาวนาในพิธีบูชาขอบพระคุณ เทศกาล/วันฉลองสำคัญในพิธีกรรมประจำปีเรียงลำดับความสำคัญได้ดังนี้ (สำราญ วงศ์เสงี่ยม, 1992: 13-26)

2.1) เทศกาลในวงปัสกา และการเตรียมฉลอง

2.1.1) สมโภชปัสกา

ตามปกติ คริสตชนมาร่วมฉลองวันพระเจ้าทุกวันอาทิตย์ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์แห่งการกอบกู้ของพระเจ้า ต่อมาในช่วงคริสตศตวรรษแรก ๆ มีการกำหนด ช่วงเวลาในรอบปีให้เป็นช่วงเวลาการฉลองปัสกาเป็นพิเศษ ถือว่ามีความสำคัญที่สุดในการเฉลิมฉลองพิธีกรรมของคริสตชน เพราะเป็นการระลึกถึงพระทรมาน การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนชีพของพระเยซูคริสตเจ้า การฉลองปัสกาไม่ใช่ฉลองแค่วันเดียว แต่เป็นช่วงเวลา (เทศกาล) ที่เต็มไปด้วยความชื่นชมยินดี มีการร้องเพลงอัลเลลูยา ซึ่งแปลว่า "จงสรรเสริญพระยาห์เวห์ จงสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า" โดยกำหนดให้เทศกาลปัสกาเริ่มต้นตั้งแต่วันอาทิตย์ปัสกาจนจบวันสมโภชพระจิตเจ้า โดยก่อนวันอาทิตย์ปัสกา มีตรีวารเพื่อรองรับการฉลอง (วันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ ศุกร์ศักดิ์สิทธิ์และเสาร์ศักดิ์สิทธิ์) วันสมโภชปัสกาเป็นการสมโภชที่ไม่กำหนดวันที่แน่นอนตายตัว ในปฏิทิน การฉลองปัสกามีสองภาค คือ ภาคมหาทรมาน ที่เน้นการเป็นทุกข์ กลับใจและใช้โทษบาป ส่วนภาคสองเป็นการเฉลิมฉลองการกลับคืนชีพของพระเยซูคริสตเจ้า และเน้นการฉลองระหว่างคืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ถึงวันอาทิตย์ปัสกา การสมโภชปัสกาเป็นการเฉลิมฉลอง “การผ่าน” ความทุกข์สู่ความชื่นชมยินดีในพระทรมาน การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนชีพของพระเยซูคริสตเจ้า เพื่อคริสตชนจะได้มีส่วนร่วมชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้า

2.1.2) สมโภชพระเยซูคริสตเจ้าเสด็จสู่สวรรค์และสมโภชพระจิตเจ้า

ช่วงเทศกาลปัสกา มีวันสมโภชที่สำคัญสองอย่าง คือ วันสมโภชพระเยซูคริสตเจ้าเสด็จสู่สวรรค์ (The Ascension) อยู่ราว ๆ 40 วันหลังจากวันอาทิตย์สมโภชปัสกา เป็นการฉลองพระเยซูผู้ทรงกลับคืนชีพเสด็จสู่สวรรค์ ตามที่บันทึกในหนังสือกิจการอัครสาวก เน้นการระลึกถึงพระเยซูได้รับชัยชนะเหนือความตายแล้ว ทรงสำแดงพระองค์แก่บรรดาศิษย์ของพระองค์ ดังที่เราภาวนาในบทข้าพเจ้าเชื่อถึงพระเป็นเจ้าว่า "เสด็จขึ้นสวรรค์ประทับเบื้องขวาพระบิดา พระองค์จะเสด็จมาอีก ด้วยพระสิริรุ่งโรจน์ เพื่อพิพากษาผู้เป็นและผู้ตาย รัชสมัยของพระองค์ จะไม่มีสิ้นสุด"

นอกจากนั้น ยังมีการฉลองที่สำคัญอีกวันหนึ่งคือ สมโภชพระจิตเจ้า (ราว 50 วันหลังวันสมโภชปัสกา) ซึ่งถือเป็นวันปิดเทศกาลปัสกา เป็นวันสมโภชที่สรุปเทศกาลปัสกา เป็นการระลึกถึงการเสด็จมาของพระจิตเจ้าที่ประทับในหมู่บรรดาอัครสาวกพร้อมกับพระนางมารีย์และบรรดาสตรีที่เลื่อมใสในพระเยซูคริสตเจ้า ทำให้พวกท่านไปประกาศเผยแผ่ความรักของพระเจ้า ตามพันธกิจที่พระเยซูทรงมอบแก่พวกเขา วันสมโภชพระจิตเจ้าจึงเป็นวันสถาปนาพระศาสนจักรเป็นวันเกิดอย่างแท้จริง โดยอาศัยบรรดาอัครสาวกประกาศกิจการอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า พร้อมทั้งการเฉลิมฉลองพระของพระจิตที่ประทานแก่พระศาสนจักร

2.1.3) การเตรียมปัสกา (เทศกาลมหาพรต)

พระศาสนจักรกำหนดให้มีช่วงเวลา 40 วันก่อนวันสมโภชปัสกา เป็นช่วงเวลาแห่งการเตรียมจิตใจ หรือเรียกว่าเทศกาลมหาพรต (Lent) เพื่อเป็นโอกาสกลับใจใช้โทษบาปของคริสตชน เพื่อให้การเฉลิมฉลองปัสกาที่กำลังเตรียมอยู่นี้เป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้น การประกอบพิธีกรรม (พิธีบูชาขอบพระคุณ) เทศกาลมหาพรตเริ่มต้นด้วยวันพุธรับเถ้า (วันพุธก่อนสัปดาห์แรกในเทศกาลมหาพรต) เพื่อเตือนใจให้สำนึกผิด กลับใจและเชื่อพระวรสาร ในช่วงมหาพรตศาสนบริกรสงฆ์จะใส่อาภรณ์สีม่วง รวมถึงพระวาจาและบทภาวนาต่าง ๆ จะเน้นให้คริสตชนสำนึกตนเองและปรับปรุงตนเองให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตมุ่งสู่ความรอดพ้น ตามแนวทางของพระเยซูคริสตเจ้าวันอาทิตย์ที่หกในเทศกาลมหาพรต คือ วันอาทิตย์ใบลานซึ่งเป็นการเริ่มสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นการระลึกถึง การที่พระเยซูเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างสง่า สองสามวันก่อนที่พระองค์ทรงรับทรมานและสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน คริสตชนจะไปรวมกันนอกวัด ประธานในพิธีเสกใบลาน หรือกิ่งไม้ แล้วแต่วัฒนธรรมท้องถิ่นและตั้งขบวนแห่เข้าวัดเพื่อร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ ระหว่างนั้น มีการอ่านบทอ่านเกี่ยวกับพระทรมาน

2.2) เทศกาลในวงพระคริสตสมภพ (Christmas) และการเตรียมฉลอง

2.2.1) เทศกาลพระคริสตสมภพ

วันที่ 25ธันวาคมของทุกปี เป็นวันฉลองการประสูติของพระเยซูคริสตเจ้า เป็นการฉลองธรรมล้ำลึกที่พระเจ้าบังเกิดเป็นมนุษย์ เป็นการเฉลิมฉลอง “ข่าวดีแห่งความรอดพ้น” ที่พระเจ้าทรงปฏิบัติตามพันธสัญญาที่จะช่วยมนุษยชาติบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระองค์ วันพระคริสตสมภพยังเน้นการฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ที่มีนักบุญโยเซฟ พระนางมารีย์และพระเยซู และทุกครอบครัว เป็นการฉลองชีวิตที่มาจากพระเจ้าก่อนที่เราจะกลับไปหาพระองค์ การฉลองคริสตสมภพเป็นช่วงเวลา (หรือเทศกาล) แห่งความชื่นชมยินดีในการบังเกิดของพระเยซูคริสตเจ้า พระผู้ไถ่กู้จากความทุกข์ (บาปและความตาย) สู่ความรอดพ้นในพระเจ้า ระหว่างเทศกาลคริสตมาสมีวันสมโภชพระคริสตเจ้าแสดงออก (วันที่ 6 มกราคม) เพื่อเฉลิมฉลองการเผยแสดงของพระเยซูคริสตเจ้าแก่มนุษยชาติทั่วโลก (ความรอดพ้นพ้นครอบคลุมถึงมนุษยชาติทุกคน) และเทศกาลคริสตมาสจะไปสิ้นสุดที่การฉลองการรับพิธีล้างของพระเยซูคริสตเจ้า

2.2.2) การเตรียมฉลองคริสตมาส (เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ)

วงจรพิธีกรรมเริ่มจากเวลาเตรียมฉลองคริสตมาส ที่เรียกว่าเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระเยซูคริสตเจ้า (Advent) เริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ สี่สัปดาห์ก่อนสมโภชพระคริสตสมภพ พระศาสนจักรกำหนดให้มีช่วงเวลา 4 สัปดาห์สำหรับการเตรียมรับเสด็จพระเยซูคริสตเจ้า เป็นการรอคอยด้วยความชื่นชมยินดี การเฉลิมฉลองพิธีกรรมในช่วงนี้มีจุดเน้นอยู่ที่การรอคอยการเสด็จมาของพระเยซูคริสตเจ้า เป็นการระลึกถึงการเสด็จมาครั้งแรกของพระองค์ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ และการรอคอยการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์ในวาระสิ้นโลก

2.3) การฉลองพระนางมารีย์และบรรดานักบุญต่าง ๆ ในรอบปี

นอกจากนี้แล้ว ยังมีวันฉลองที่สำคัญต่างๆ ซึ่งปรากฏในปฏิทินของพระศาสนจักร วันฉลองเหล่านี้ คือ เหตุการณ์สำคัญในชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้า ส่วนหนึ่งของพระนางมารีย์หรือของพระศาสนจักร เช่น วันระลึกถึงผู้ตาย วันฉลองนักบุญทั้งหลาย นอกนั้นในช่วงวันธรรมดา พระศาสนจักรก็จัดให้ระลึกถึงนักบุญต่างๆ อยู่แล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อให้ท่านเหล่านั้นเป็นแบบอย่างแห่งการดำเนินชีวิต และให้ท่านเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ให้สามารถดำเนินชีวิตไปถึงที่สุดได้เช่นเดียวกับท่านเหล่านั้น การฉลองต่างๆ เหล่านี้จะปรากฏในเนื้อหาภาคแรกของพิธีบูชาขอบพระคุณ

ดังนั้น หลักปฏิบัติพื้นฐานของชีวิตคริสตชนในส่วนแรก คือ การสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้า บนพื้นฐานของพระคัมภีร์ โดยเฉพาะตามแบบฉบับชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้า ตามธรรมเนียมปฏิบัติและการสอนทางการของพระศาสนจักร ที่ให้ความสำคัญต่อการภาวนาและการร่วมพิธีกรรม เพื่อยกจิตใจหาพระเจ้าตามรูปแบบที่พระองค์ประทานแก่พระศาสนจักร เพื่อร่วมเฉลิมฉลองชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้า ทำให้คริสตชนเป็นหนึ่งเดียวและเป็นประชากรของพระเจ้า ด้วยการดำเนินชีวิตสอดคล้องกับแผนการความรอดพ้นที่พระเจ้าประทานแก่มนุษยชาติ ผ่านทางพระเยซูคริสตเจ้า ภายใต้การนำของพระจิตเจ้าที่ประทับในพระศาสนจักรของพระองค์

2. กฎเกณฑ์และพระหรรษทาน

2.1 คุณค่า ความหมายและเป้าหมาย

คริสตชนเชื่อว่า พระเจ้าได้ส่งพระเยซูคริสตเจ้ามามอบแบบอย่างชีวิต ในการสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้า ในรูปแบบของการภาวนาและการร่วมพิธีกรรม (การปฏิบัติคารวกิจ) แล้ว พระองค์ได้มอบ “คู่มือ” สู่การปฏิบัติตนของคริสตชน เพื่อเป็นแนวปฏิบัติเสริมสร้างความรักในพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ในรูปแบบของกฎเกณฑ์และพระหรรษทานที่พระเจ้าประทานให้ แนวทางการดำเนินชีวิต หรือคู่มือที่พระเจ้าประทานให้ จึงมีพื้นฐานบนความรักที่พระองค์ทรงมีต่อมนุษย์ เพื่อช่วยมนุษย์บรรลุถึงความรอดพ้นในพระองค์ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้าที่รับรองและมอบแนวทาง (บัญญัติแห่งความรัก) ทำให้ “คู่มือปฏิบัติ” ที่พระเจ้าประทานให้มีคุณค่าและความหมาย ในฐานะเป็น “แนวทางสู่ความรอดพ้น” โดยย้ำถึงความทุ่มเท ความตั้งใจดีของมนุษย์ในการปฏิบัติตามด้วยความอ่อนน้อมและสำนึกในพระเมตตาของพระเจ้า (CCC, 1994: 1949 – 1986)

การปฏิบัติตามคู่มือ (กฎเกณฑ์ต่าง ๆ หรือธรรมบัญญัติต่าง ๆ ) ไม่ได้มีคุณค่าหรือมีเป้าหมายในตนเอง และคุณค่าไม่ได้อยู่ที่การปฏิบัติตามลายลักษณ์อักษรอย่างเคร่งครัด แต่เป็น “เครื่องมือ” หรือแนวทางที่เรียกร้องให้มนุษย์ปฏิบัติด้วยความสำนึกในศักดิ์ศรีของตน ในฐานะที่มนุษย์เป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้า ได้รับการเชื้อเชิญจากพระเจ้าให้ดำเนินชีวิตสอดคล้องกับเป้าหมายชีวิต แต่เนื่องจากมนุษย์ยังมีขอบเขตจำกัด เสรีภาพของมนุษย์ยังไม่สมบูรณ์เหมือนพระเจ้า จึงต้องอาศัยความช่วยเหลือจากพระเจ้าเพื่อความรอดพ้นในรูปแบบของธรรมบัญญัติและพระพรแห่งความรอดพ้น (พระหรรษทาน) อันเป็นเครื่องมือสู่ความจริงและความดี อาศัยความรักเป็นพื้นฐาน เพื่อให้การดำเนินชีวิตของมนุษย์สอดคล้องกับเป้าหมายชีวิต คือ การบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ (ความรอดพ้น) ในพระเจ้า

2.2 ความชอบธรรมและพระหรรษทาน

คำสอนและหลักปฏิบัติเรื่องความชอบธรรมและพระหรรษทาน เป็นสิ่งควบคู่กันเสมอในการอธิบายถึงวิถีชีวิตมนุษย์เพื่อบรรลุถึงความรอดพ้น เนื่องจากคริสตชนมีพื้นฐานอยู่ที่ความเชื่อในพระเจ้าซึ่งเป็นจุดกำเนิดและเป้าหมายปลายทางของสรรพสิ่ง ทรงเนรมิตสรรพสิ่ง โดยเฉพาะมนุษย์ พระองค์ทรงสร้างอย่างเอาใจใส่และประทานพระพรเพื่อความรอดพ้นสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า แม้ว่าพระเจ้าจะสร้างมนุษย์ให้ความจำกัด ต้องอยู่ในประวัติศาสตร์ อยู่ในเงื่อนไขของเวลาและสถานที่ แต่พระเจ้าทรงโปรดเมตตาประทาน “พระพร” (ศักยภาพ) ให้มนุษย์สามารถบรรลุถึงพระองค์ได้ แม้ว่ามนุษย์จะใช้พระพรที่พระองค์ประทานให้ในการปฏิเสธพระเจ้า ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าเสื่อมเสียไป จนทำให้มนุษย์ไม่สามารถบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ (ความรอดพ้น) ในพระเจ้าได้ แต่พระเจ้ายังคงรักและกอบกู้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าให้กลับคืนมาดังเดิม โดยส่งพระเยซูคริสตเจ้ามาสานสัมพันธ์ ด้วยการถวายพระองค์เองชำระล้างความบกพร่องและการปฏิเสธพระเจ้าของมนุษย์ ด้วยการถวายชีวิตด้วยความรัก โดยการรับทรมาน ตายและกลับคืนชีพ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้ากลับคืนมาดังเดิม ทำให้การดำเนินชีวิตของมนุษย์มีคุณค่าและความหมาย ในฐานะเป็นการเดินทางเพื่อมุ่งสู่พระเจ้า ตามแผนการแห่งความรอดพ้นที่พระเจ้าเป็นผู้เริ่มต้น กอบกู้และประทานพระพร โดยมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าเป็นพื้นฐาน เพื่อให้มนุษย์สามารถก้าวพ้นขอบเขตจำกัด ด้วยการใช้ศักยภาพที่พระเจ้าประทานให้ในการบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า ทำให้ประวัติศาสตร์มนุษยชาติมีคุณค่าและความหมายในฐานะเป็น “ประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้น” (CCC, 1994: 1987 – 2029)

2.2.1 ความชอบธรรม

คริสตชนเชื่อว่ามนุษย์ไม่ได้เกิดมาอย่างบังเอิญ แต่มีพระเจ้าเป็นจุดกำเนิดของชีวิต พระเจ้าสร้างมนุษย์ให้เป็นภาพลักษณ์ของพระองค์ ดังนั้น ชีวิตมนุษย์จึงศักดิ์สิทธิ์ นับตั้งแต่วาระปฏิสนธิเลยทีเดียว เพราะแสดงให้เห็นถึงอำนาจในการสร้างของพระเจ้า พระองค์ทรงวางแผนการให้มนุษย์แต่ละคนสามารถบรรลุถึงความสมบูรณ์ของชีวิต โดยประทาน “พลังแห่งความก้าวหน้า” อันเป็นพลังชีวิตที่ทำให้มนุษย์สามารถบรรลุถึงพระเจ้า ชีวิตมนุษย์จึงศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีพระเจ้าเป็นพื้นฐาน ในฐานะที่พระองค์เป็นจุดเริ่มต้นและจุดหมายปลายทางของมนุษย์

ก. ความชอบธรรมคือ ภาวะแห่งการมีความสัมพันธ์กับพระเจ้า

มนุษย์ในสภาวะดั้งเดิมที่พระเจ้าทรงสร้าง นอกจากจะเป็นความดีร่วมกับสิ่งต่าง ๆ ที่พระเจ้าทรงสร้างแล้ว (ทุกสิ่งที่พระเจ้าสร้างล้วนดีทั้งสิ้น) มนุษย์ยังได้รับสภาวะพิเศษที่ต่างจากสิ่งอื่น ๆ เนื่องจากมนุษย์มีความศักดิ์สิทธิ์และความชอบธรรม กล่าวคือ (วุฒิชัย อ่องนาวา, 2548: 52 – 54)

- พระเจ้าโปรดให้มนุษย์มีชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยประทานพระพรแห่งการมีส่วนร่วมชีวิตของพระเจ้า (To share in divine life) ทำให้มนุษย์มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระเจ้า

- พระเจ้าโปรดให้มนุษย์มีความชอบธรรม อันหมายถึงการที่มนุษย์มีความกลมกลืนภายในตัวเอง มีความกลมกลืนระหว่างชายและหญิง และมีความกลมกลืนกับสิ่งทั้งปวงที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้น มนุษย์สามารถเป็นนายเหนือตัวเอง ควบคุมตนเองและอยู่กับคนอื่น สิ่งอื่นได้อย่างประสานกลมกลืน

ในฐานะที่พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นไปตามภาพลักษณ์ของพระองค์ มนุษย์จึงไม่สามารถมีอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องขึ้นอยู่กับพระเจ้าและดำเนินชีวิตมุ่งสู่พระเจ้าเพื่อความสมบูรณ์ของชีวิต การมุ่งสู่พระเจ้าจึงเป็นเป้าหมายและการกำหนดวิถีชีวิต พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้มีศักดิ์ศรีโดยประทานสติปัญญา ความสำนึกทางศีลธรรมและเสรีภาพเพื่อให้มนุษย์ใช้เป็นเครื่องมือบรรลุถึงพระองค์ ซึ่งอธิบายรายละเอียดดังต่อไปนี้

1) สติปัญญา

มนุษย์มีสติปัญญาทำให้สามารถรู้และเข้าใจความจริงและระเบียบของสิ่งต่าง ๆ ที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้ “สติปัญญานี่เองที่ทำให้มนุษย์มีเหตุผลเข้าใจความจริงได้” (CCC, 1994: 1704)

2) ความสำนึกทางศีลธรรม

มนุษย์มีเสียงเตือนภายในจิตใจมนุษย์ที่คอยพร่ำเตือนให้มนุษย์มุ่งสู่ความดี หลีกเลี่ยงความชั่ว เพื่อช่วยวินิจฉัยให้มนุษย์ทำในสิ่งที่ถูกต้องตามหลักเหตุผลสอดคล้องกับธรรมชาติมนุษย์ที่มุ่งสู่พระเจ้า (ความดีสูงสุด)

3) เสรีภาพ

พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้มีเหตุผล โดยประทานศักดิ์ศรีแก่มนุษย์ให้มีความคิดริเริ่มและทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ เพื่อให้มนุษย์แสวงหาและบรรลุถึงพระเจ้าด้วยความสมัครใจ เสรีภาพตามความเข้าใจของศาสนาคริสต์ จึงหมายถึง พลังที่มนุษย์ต้องรับผิดชอบต่อการเลือกดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติมนุษย์ โดยตัดสินใจดำเนินชีวิตมุ่งสู่พระเจ้า ในฐานะที่มนุษย์ต้องขึ้นอยู่กับพระเจ้าและมีพระเจ้าเป็นเป้าหมายของชีวิตที่สมบูรณ์ แต่เนื่องจากมนุษย์มีขอบเขตจำกัดและยังไม่สมบูรณ์ มนุษย์จึงอาจใช้เสรีภาพในทางที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของตน โดยการปฏิเสธพระเจ้าก็ได้

ข. มนุษย์ใช้เสรีภาพที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติชีวิต ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าต้องบกพร่องไป

1) มนุษย์ใช้เสรีภาพในทางที่ผิด ทำให้ธรรมชาติมนุษย์บกพร่อง

เมื่อเริ่มสร้างโลกและมนุษย์ ๆ ขึ้นอยู่กับพระเจ้าและมีพระเจ้าเป็นความสมบูรณ์ของชีวิต “แต่มนุษย์กลับใช้เสรีภาพที่จะดำรงอยู่และบรรลุถึงความสมบูรณ์ด้วยตัวมนุษย์เอง มนุษย์ต้องการเป็นเหมือนพระเจ้า (Be like God) โดยตัดพระเจ้าออกไปจากชีวิต” (CCC, 1994: 398) มนุษย์ต้องการมีอยู่ด้วยตัวเอง โดยไม่ขึ้นอยู่กับพระเจ้า มนุษย์เลือกที่จะตัดความสัมพันธ์กับพระเจ้า แต่มนุษย์ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง เพราะมนุษย์ไม่ใช่ผู้สร้าง (Creator) จึงไม่สามารถบรรลุถึงความสมบูรณ์ของชีวิตได้ เพราะการบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ต้องอาศัยพระพรของพระเจ้าเท่านั้น ดังนั้น มนุษย์จึงสูญเสียความศักดิ์สิทธิ์ที่มีมาแต่แรกเริ่มและไม่อาจมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าได้อีก มนุษย์กลายเป็นผู้เกรงกลัวพระเจ้า เข้าใจพระเจ้าผิด ๆ โดย “เข้าใจว่าพระเจ้าหวงแหนสิทธิอำนาจของพระองค์และไม่อยากให้มนุษย์บรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์แบบพระองค์” (CCC, 1994: 399) นอกจากนั้น มนุษย์ยังสูญเสียความชอบธรรมที่จะมีชีวิตอย่างกลมกลืนกับตนเองและธรรมชาติรอบตัว ดังใน Catechism of the Catholic Church (CCC, 1992: 400) กล่าวว่า

...มนุษย์ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ตามพระประสงค์เดิม ความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างชายหญิงไม่กลมกลืนเหมือนเดิม รวมทั้งความกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับสิ่งอื่น ๆ ก็หมดไปด้วย สิ่งต่าง ๆ กลายเป็นสิ่งแปลกหน้าและดูเหมือนเป็นศัตรูกับมนุษย์ จึงทำให้มนุษย์พยายามที่จะเอาชนะโลก และท้ายที่สุด ในฐานะที่มนุษย์เป็นกายและวิญญาณที่ประกอบกันขึ้นเป็นหนึ่งเดียว และผลของบาปทำให้มนุษย์ไม่มีความกลมกลืนภายในชีวิตเหมือนเดิม กายและวิญญาณจึงไม่อาจเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างเดิม วิญญาณต้องแยกจากร่างกายในวันใดวันหนึ่ง ร่างกายต้องกลับไปสู่สภาวะเดิม คือกลับเป็นเป็นผงคลีดิน เพราะพระเจ้าทรงสร้างจากดิน (ปฐก 3: 19) ผลของบาปทำให้มนุษย์ต้องตาย...

2) ความหมายของบาปกำเนิด

การที่พระเจ้าสร้างอาดัม ในฐานะที่อาดัมเป็นตัวแทนของมนุษยชาติ ได้รับพระพร คือ ความศักดิ์สิทธิ์และความชอบธรรมจากพระเจ้า เมื่อพระเจ้าเริ่มสร้างมนุษย์ขึ้นมาฉันใด เมื่ออาดัมทำบาป ๆ นั้นก็ย่อมเป็นบาปของมนุษยชาติด้วยเช่นกัน บาปของอาดัมจึงเรียกว่าบาปกำเนิดของมนุษยชาติ (CCC, 1994: 417)

ค. ธรรมชาติมนุษย์ที่บกพร่องเพราะบาปกำเนิด ได้รับการกอบกู้โดยทางพระเยซูคริสตเจ้า

แม้ธรรมชาติมนุษย์บกพร่องเพราะบาปกำเนิด แต่มนุษย์ยังคงเป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้า และ “พระองค์ทรงช่วยเหลือมนุษย์ให้กลับมาสู่สภาวะเดิมโดยทางองค์พระเยซูคริสตเจ้าที่ทรงยอมสิ้นพระชนม์เพื่อมนุษยชาติ” (CCC, 1994: 421) ทำให้มนุษย์สามารถกลับสู่ภาวะเดิม คือ การมีชีวิตที่สามารถบรรลุถึงชีวิตสมบูรณ์ในพระเจ้าอีกครั้ง ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้ากลับคืนมาดังเดิม ทำให้มนุษย์ได้รับความชอบธรรม กล่าวคือ มนุษย์ได้รับภาวะแห่งความสัมพันธ์กับพระเจ้าดังเดิม จนสามารถบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้าได้ อาศัยความช่วยเหลือของพระเจ้าตามวิถีทางที่พระองค์ช่วยเหลือและมอบแนวทางแก่มนุษย์ทางองค์พระเยซูคริสตเจ้า

2.2.2 พระหรรษทาน

ในคำสอนของศาสนาคริสต์ เรามักพบคำว่า “พระหรรษทาน” (Grace) อยู่เสมอ คริสตชนให้ความสำคัญแก่ “พระหรรษทาน” ในฐานะเป็นพระพรที่พระเจ้าประทานแก่มนุษย์เพื่อบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระองค์ เป็นพระหรรษทานนี่เองที่ทำให้มนุษย์มีความชอบธรรม กล่าวคือ เป็นความช่วยเหลือของพระเจ้า (ด้วยการประทานพระพร/พระหรรษทานแก่มนุษย์) เพื่อช่วยมนุษยชาติให้มีความสัมพันธ์กับพระองค์ เพื่อมนุษย์จะได้บรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระองค์

ก. พระหรรษทานคือ ของประทานจากพระเจ้า เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับพระองค์

คริสตชนเชื่อว่าคุณค่าและความหมายของชีวิตมนุษย์ คือ การพัฒนาตนเองสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ (ความรอดพ้น) ในพระเจ้า ตามรูปแบบที่พระองค์มอบให้ทางพระเยซูคริสตเจ้า หมายความว่า ลำพังมนุษย์เอง ไม่สามารถบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ได้ นอกจากอาศัยความช่วยเหลือจากพระเจ้า เป็นพระเจ้าที่ลงมาสร้างความสัมพันธ์กับมนุษย์และช่วยมนุษย์สู่ชีวิตที่สมบูรณ์ และความช่วยเหลือที่พระเจ้าประทานแก่มนุษย์นี่เอง ที่คริสตชนเรียกว่า “พระหรรษทาน” หรือ “พระพร” อันเป็นของประทานที่พระเจ้าประทานแก่มนุษย์ เพื่อช่วยให้มนุษย์มีความสัมพันธ์กับพระองค์อย่างถูกต้อง อันเป็นวิถีชีวิตที่ทำให้มนุษย์สามารถบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า อาศัยความช่วยเหลือของพระเจ้า

1) พระหรรษทาน คือ การมีส่วนร่วมในชีวิตของพระเจ้า

พระหรรษทานเป็นของประทานจากพระเจ้า เพื่อให้มนุษย์อยู่ในภาวะของการมีความสัมพันธ์กับพระเจ้า หรือพระพรแห่งสถานภาพที่ทำให้มนุษย์กลับคืนดี มีความสัมพันธ์กับพระเจ้าจนสามารถบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์กับพระเจ้าได้ ทำให้มนุษย์มีส่วนร่วมในชีวิตของพระองค์ (CCC, 1994: 1997)

2) พระหรรษทานเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติ

การบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า เป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ เกินขอบเขตและความสามารถที่มนุษย์จะสามารถช่วยตนเองให้บรรลุถึงพระเจ้าได้ ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากพระเจ้า มนุษย์จึงสามารถบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ได้

3) พระหรรษทานเป็นการให้เปล่าจากพระเจ้า ที่ประทานแก่มนุษย์

พระหรรษทานของพระเจ้านั้นเป็นพระพรที่พระเจ้าให้เปล่า ๆ เป็นผลมาจากการที่พระเจ้าทรงรักมนุษย์และปรารถให้มนุษย์บรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระองค์ พระองค์จึงประทานพระหรรษทานแก่มนุษย์เพื่อเป็น “เครื่องมือที่จำเป็น” เพื่อการมีส่วนร่วมในชีวิตของพระเจ้า เพื่อบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระองค์

ข. พระหรรษทานของพระเจ้ากับท่าทีของมนุษย์ในการรับพระหรรษทาน

แม้ว่าพระหรรษทานเป็นของประทานจากพระเจ้าเพื่อความรอดพ้นพ้นของมนุษย์และเป็นริเริ่มจากพระเจ้าที่ปรารถนาให้มนุษย์บรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ แต่พระเจ้าทรงเรียกร้อง “การตอบสนองที่เสรีของมนุษย์” (Free will) (CCC, 1992: 2002) เพราะพระองค์ทรงสร้างมนุษย์ตามฉาพลักษณ์ของพระองค์ ทรงประทานศักยภาพให้มนุษย์สามารถรู้จักและรักพระองค์อย่างอิสระ พระเจ้าประทานพระหรรษทานเพื่อช่วยมนุษย์สู่ความรอดพ้น แต่ขึ้นกับมนุษย์แต่ละคนว่าจะตอบรับการช่วยให้รอด (พระหรรษทาน) ที่พระองค์ประทานให้หรือไม่ก็ได้

ค. รูปแบบการรับพระหรรษทาน

นอกจากพระเจ้าทรงประทานพระหรรษทานเพื่อช่วยมนุษย์ได้มีความสัมพันธ์กับพระเจ้า (ความชอบธรรม) ทำให้สามารถบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้าได้แล้ว พระหรรษทานของพระเจ้ายังหมายถึงพระพรต่าง ๆ ที่พระจิตทรงประทานแก่ประชากรของพระเจ้าเพื่อช่วยมนุษย์สู่ความรอดพ้นพ้น โดยเฉพาะ “พระหรรษทานแห่งศีลศักดิ์สิทธิ์” รวมทั้ง “พระพรพิเศษ” (Charisms) ที่พระเจ้าทรงประทานแก่ผู้ที่พระองค์เลือกสรรบางคน เพื่อประโยชน์ส่วนรวมในแผนการแห่งความรอดพ้น (CCC, 1994: 2003)

ง. พระหรรษทานกับคุณธรรม

อาศัยพระหรรษทานของพระเจ้าทำให้มนุษย์มีความสัมพันธ์กับพระเจ้า และได้รับพระพรในการดำเนินชีวิตสู่ความรอดพ้นพ้น พระหรรษทานเรียกร้องการตอบรับอย่างอิสระของมนุษย์ที่จะร่วมมือกับพระหรรษทานของพระเจ้า เพื่อความรอดพ้นพ้น เพื่อการดำเนินชีวิตที่ดีงามตามแนวทางของพระเจ้า ซึ่งคริสตชนเรียกว่า “คุณธรรม” นั่นเอง

1) ความหมายของคุณธรรม

คุณธรรม หมายถึง การมีพร้อมที่เป็นกิจนิสัยและมั่นคงที่จะกระทำสิ่งดีงาม ด้วยการที่มนุษย์ตอบรับที่จะร่วมมือกับพระเจ้าในแผนการแห่งความรอดพ้น และหมั่นฝึกฝนตนเองอาศัยพระหรรษทานของพระเจ้า ด้วยการจัดระเบียบและกำหนดชีวิตของตนให้สอดคล้องกับเหตุผลและความเชื่อ เพื่อมุ่งสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า

2) ประเภทของคุณธรรม

มีการแบ่งคุณธรรมออกเป็นสองประเภท ได้แก่คุณธรรมพื้นฐาน (คุณธรรมทางศีลธรรม) และคุณธรรมทางเทววิทยา กล่าวคือ

2.1) คุณธรรมพื้นฐาน (คุณธรรมทางศีลธรรม) ได้แก่คุณธรรมหลัก ที่พระเจ้าประทานพระพรและมนุษย์ตอบรับอย่างอิสระที่จะพัฒนาบุคลิกภาพของตน ให้สอดคล้องกับแผนการแห่งความรอดพ้นของพระเจ้า มนุษย์จำเป็นต้องได้รับพระพรจากพระเจ้าและนำพระพรที่พระเจ้าประทานให้มาพัฒนาตนเอง อาศัยการศึกษาอบรม ความตั้งใจดี ความพากเพียรพยายามที่จะพัฒนาตนสู่ความดีงามในพระเจ้า ด้วยการพัฒนาตนเองให้มีคุณธรรม โดยคุณธรรมสำคัญสี่อย่าง (ที่เป็นพื้นฐานของคุณธรรมอื่น ๆ) ได้แก่ (CCC, 1994: 1805 – 1811)

- ความรอบคอบ ได้แก่ ความสามารถในการแยกแยะสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ นำสู่การปฏิบัติและมีวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสมในการกระทำกิจการดีนั้น ๆ

- ความยุติธรรม ได้แก่ การมีความเที่ยงตรงที่จัดสรรสิ่งต่าง ๆ แก่พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์อย่างถูกต้อง เพื่อทำให้เกิดความยุติธรรมแก่ชีวิตและการเคารพสิทธิพื้นฐานของบุคคล ส่งผลให้มนุษย์มีความกลมกลืนในชีวิต

- ความกล้าหาญ ได้แก่ ความมั่นคงในการเผชิญหน้ากับปัญหา ความกลัวและอุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิต

- ความมัธยัสถ์ ได้แก่ การรู้จักยับยั้งชั่งใจในความพอเพียงของชีวิต หรือพูดง่าย ๆ คือ การรู้จักประมาณตนนั่นเอง

2.2) คุณธรรมทางเทววิทยา

คุณธรรมทางเทววิทยา หมายถึง พระพรที่พระเจ้าประทานแก่มนุษย์เพื่อการดำเนินชีวิตตอบรับที่จะสร้างความสัมพันธ์กับพระองค์อย่างใกล้ชิด อันเป็นพื้นฐานการกระทำทีดี (การตอบรับที่จะสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้า) ตามแบบคริสตชน ประกอบด้วยคุณธรรมสามประการ ได้แก่ (CCC, 1994: 1812 – 1829)

- ความเชื่อศรัทธา (Faith) หมายถึง พระพรที่พระเจ้าประทานให้เพื่อมนุษย์ได้เปิดจิตใจของตนให้เชื่อมั่นศรัทธาในพระเจ้าและเชื่อในทุกสิ่งที่พระเจ้าเผยแสดงและที่พระศาสนจักรสั่งสอน ความเชื่อมั่นศรัทธาเป็นพื้นฐานที่ทำให้คริสตชนดำเนินชีวิตตามวิถีทางแห่งความจริงตามที่พระเจ้าเผยแสดงทางพระเยซูคริสตเจ้า

- ความหวัง (Hope) หมายถึง พระพรที่พระเจ้าประทานแก่มนุษย์เพื่อให้ดำเนินชีวิตอย่างมีความหวังในพระสัญญาของพระเจ้า ที่ทรงปรารถนาให้มนุษย์บรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระองค์ ทำให้มนุษย์ดำเนินชีวิตอย่างสำนึกในคุณค่าและความหมายชีวิตของตน แม้มนุษย์จะบกพร่อง อ่อนแอ แต่พระเจ้าประทานความหวังให้มนุษย์หมั่นเพียรเอาชนะตนเอง ตามแนวทางของพระองค์

- ความรัก (Charity) หมายถึงพระพรที่พระเจ้าทรง “รักมนุษย์” และทรงโปรดให้มนุษย์รักพระองค์และรักเพื่อนมนุษย์ โดยมีพื้นฐานอยู่ที่ความรักของพระเจ้าที่ทรงมีต่อมนุษย์โดยไม่หวังผลตอบแทน เป็นความรักที่ปราศจากเงื่อนไขและเพื่อความดีของมนุษยชาติ

2.3 กฎเกณฑ์ทางศีลธรรม (บทบัญญัติแห่งความรัก)

จากคำสอนของพระเยซูคริสตเจ้า ทำให้คริสตชนตระหนักถึงความรัก ความเอาใจที่พระเจ้าทรงมีต่อมนุษย์ตามแผนการแห่งความรอดพ้น พระเจ้าประทานพระพรเพื่อช่วยมนุษย์ในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะหลักปฏิบัติในลักษณะของคู่มือ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งคริสตชนสำนึกเสมอว่าเป็น “บัญญัติแห่งความรัก” ที่พระเจ้ามอบแก่มนุษย์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ อันเป็นวิถีทางสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า โดยแยกประเภทและมีการอธิบายดังนี้ (CCC, 1994: 1949 – 1960)

2.3.1 กฎธรรมชาติ : ความสำนึกทางศีลธรรม เสียงเตือนภายในจิตใจ

คริสตชนเชื่อว่า นอกจากพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้มีสติปัญญา และเสรีภาพ มนุษย์ยังมีความสำนึกทางศีลธรรมที่คอยแนะนำให้ทำในสิ่งที่ควรทำ “ทำสิ่งนั้น อย่าทำสิ่งนี้” เป็นเหมือนกับกฎภายในใจที่มนุษย์ไม่ได้สร้างขึ้นเอง แต่พระเจ้าเป็นผู้ประทานให้ เพื่อช่วยมนุษย์มุ่งสู่ความดีและความจริง ความสำนึกทางศีลธรรมนี้อาจบกพร่องก็ได้ ถ้ามนุษย์เลือกทำแต่สิ่งไม่เหมาะสมจนเป็นความเคยชิน มนุษย์ “ต้องพยายามทำให้ความสำนึกทางศีลธรรมมีความเที่ยงตรง และพยายามมุ่งสู่การกระทำที่ดี และการช่วยเหลือกันของสมาชิกในสังคม” (วุฒิชัย อ่องนาวา, 2548: 49)

ก. ความหมายของกฎธรรมชาติ

กฎธรรมชาติ หมายถึงการที่มนุษย์มีเสียงเตือนภายในจิตใจมนุษย์ที่คอยพร่ำเตือนให้มนุษย์มุ่งสู่ความดี หลีกเลี่ยงความชั่ว เพื่อช่วยวินิจฉัยให้มนุษย์ทำในสิ่งที่ถูกต้องตามหลักเหตุผลสอดคล้องกับธรรมชาติมนุษย์ที่มุ่งสู่พระเจ้า (ความดีสูงสุด) อันเป็นหลักการพื้นฐานภายในจิตใจมนุษย์ ที่แสดงถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์และเป็นพื้นฐานถึงการกระทำในสิ่งที่มนุษย์ควรทำในฐานะเป็นมนุษย์ “กฎธรรมชาติถูกจารึกไว้ในวิญญาณของมนุษย์แต่ละคนทั้งหมด อันที่จริงกฎนั้นเป็นเหตุผลของมนุษย์ซึ่งกำหนดที่จะทำสิ่งดีงามและห้ามทำบาป” (CCC, 1994: 1954)

ข. ความจำกัดของกฎธรรมชาติ

แม้พระเจ้าทรงโปรดประทาน “ความสำนึกภายในจิตใจ” (มโนธรรม) หรือ “กฎธรรมชาติในจิตใจ” แก่มนุษย์ แต่เนื่องจากการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์ ต้องประสบกับสถานการณ์หลากกรณีของชีวิต ทีอาจชักนำให้มนุษย์สับสนและเป็นเหตุให้ความสำนึกในจิตใจของมนุษย์ผิดเพี้ยนไปได้ จึงจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้าเพื่อทำให้ความสำนึกภายในจิตใจของมนุษย์มีความเที่ยงตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวปฏิบัติ (กฎเกณฑ์) ต่าง ๆ ที่พระเจ้าโปรดประทานให้อาศัยการเผยแสดงในพระเยซูคริสตเจ้าและการอธิบายของพระจิตเจ้าผ่านทางพระศาสนจักรที่พระองค์ทรงตั้งขึ้น เพื่อช่วยขัดเกลาและแนะนำแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อความเหมาะสมต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์อย่างถูกต้อง

2.3.2 พระบัญญัติสิบประการ

ก. คุณค่าและความหมาย : พระบัญญัติหนึ่งเดียวเพื่อเป็นแนวทาง (เครื่องมือ/คู่มือ) สร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์

ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม กล่าวถึงพระบัญญัติและข้อผูกมัดในการเป็นประชากรของพระเจ้าอยู่หลายประการ เพื่อสอนว่าสิ่งใดที่สำคัญในพระประสงค์ของพระเจ้าและควรดำเนินชีวิตอย่างไรเพื่อสอดคล้องกับแผนการแห่งความรอดพ้น พระเยซูคริสตเจ้าทรงเคร่งครัดในการปฏิบัติตามพระบัญญัติ ทรงย้ำว่าพระองค์ไม่ได้ล้มล้างแต่มาทำให้สมบูรณ์ กล่าวคือ ทรงให้คุณค่าและความหมายของการปฏิบัติตามพระบัญญัติ ว่าไม่ใช่ดำเนินตามตัวอักษร แต่คุณค่าของการปฏิบัติตามพระบัญญัติคือ การปฏิบัติความรักเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ พระองค์ทรงเชื่อมโยงการปฏิบัติตนเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์เข้าด้วยกัน โดยสรุปพื้นฐานพระบัญญัติของพระเจ้าว่า “ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านสุดจิตใจ... นี่คือบทบัญญัติเองและบทบัญญัติแรก บทบัญญัติประการที่สองก็เช่นเดียวกัน คือ ท่านต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” (มธ 22: 37 – 40) พระบัญญัติซึ่งพระเยซูคริสตเจ้าทรงอธิบายว่าเป็นฐานของระเบียบการปฏิบัติในรายละเอียดต่าง ๆ นี้ คือกฎเกณฑ์สำหรับชีวิต ทรงย้ำความสำคัญของการปฏิบัติพระบัญญัติด้วยความรักซึ่งรวมไปถึงการรักพระเจ้า รักเพื่อนมนุษย์และรักตนเอง

คริสตชนดำเนินตามแบบอย่างของพระเยซูคริสตเจ้า ในการรับเอาธรรมบัญญัติหรือกฎเกณฑ์ที่มีจารึกในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมที่ได้รับจากพระเจ้าที่ภูเขาซีไนย์ เป็นหลักการหรือกฎระเบียบเบื้องต้นในการดำเนินชีวิตคริสตชน โดยเชื่อว่าเป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานให้เป็นแนวปฏิบัติเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ อันเป็นวิถีปฏิบัติสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า โดยมีพื้นฐานบนกฎธรรมชาติ (ความสำนึกภายในจิตใจ) ที่พระเจ้าประทานให้เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับพระองค์

ข. พื้นฐานและเนื้อหาพระบัญญัติสิบประการตามธรรมประเพณีคริสตชน

การประกาศพระบัญญัติในพระคัมภีร์เริ่มต้นด้วยการแนะนำตัวของพระเจ้าว่า “เราเป็นพระเจ้าของเจ้า ผู้ได้นำเจ้าออกจากประเทศอียิปต์ ดินแดนแห่งการเป็นทาส” (อพย 20: 2) คริสตชนเชื่อในสิ่งที่ชาวอิสราเอลเชื่อ คือ เชื่อว่าพระเจ้าทรงกอบกู้ประชากรของพระองค์ ทรงเป็นฝ่ายริเริ่มและได้ทรงรักมนุษย์ก่อนที่มนุษย์จะรู้จักและรักพระองค์ พระองค์ต้องการให้มนุษย์ร่วมชีวิตกับพระองค์ จึงทรงเสนอและทำพันธสัญญากับพวกเขา พระบัญญัติสิบประการที่ประชากรของพระเจ้าได้รับที่ภูเขาซีไนย์มีรากฐานบนความรัก เหตุว่าพระเจ้าทรงมีพระประสงค์ให้มนุษย์เป็นเหมือนกับพระองค์ (การบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์) ตามแนวปฏิบัติที่พระองค์ประทานให้ทั้งสิบประการจากข้อความในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมที่มีกล่าวถึงสองตอนด้วยกัน (คือ ในหนังสืออพยพ 20: 2-17 และหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ 5: 6-21) ซึ่งคริสตชนสรุปเพื่อง่ายต่อการจดจำเป็นพระบัญญัติสิบประการของคริสตชน โดยอ้างอิงจากข้อความในพระคัมภีร์ที่มีกล่าวถึงทั้งสองตอน ดังต่อไปนี้ (ยอด พิมพิสาร, 1998: 121 – 123)

พระบัญญัติสิบประการ

ข้อความจากหนังสืออพยพ ข้อความจากหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ บทที่คริสตชนใช้
เราคือพระเจ้าของเจ้า เราคือองค์พระเจ้า พระเจ้าของ 1. จงนมัสการพระ นำเจ้าออกจากแผ่นดิน เจ้า ผู้ได้นำเจ้าออกจากแผ่นดิน เป็นเจ้าผู้เดียวของเจ้า
อียิปต์ จากแดนทาส อียิปต์ จากแดนทาส

อย่ามีพระเจ้าอื่นใด อย่ามีพระเจ้าอื่นใด
นอกเหนือจากเรา นอกเหนือจากเรา

อย่าทำรูปเคารพสำหรับตน
เป็นรูปสิ่งใดซึ่งมีอยู่ในฟ้าเบื้องบน
หรือบนแผ่นดินเบื้องล่าง
หรือในน้ำใต้แผ่นดิน
อย่ากราบไหว้หรือปรนนิบัติ
รูปเหล่านั้น เพราะเราคือ
พระเจ้าของเจ้า เป็นพระเจ้าที่
หวงแหน ให้โทษตกทอดไปถึง
ลูกหลานของผู้ที่เกลียดชังเรา
จนถึงสามชั่วสี่ชั่วอายุคน
แต่เราแสดงความรักมั่นคง
ต่อคนที่รักเราและปฏิบัติตาม
บัญญัติของเราจนถึงพันชั่วอายุคน

อย่าออกพระนามพระเจ้าของเจ้า อย่าออกพระนามพระเจ้า 2. อย่าออกพระนามอย่างไม่สมควร ของเจ้าอย่างไม่สมควร พระเจ้าโดยไม่สมเพราะผู้ที่ออกพระนามพระองค์ เหตุ
อย่างไม่สมควรนั้น
พระเจ้าจะทรงถือว่าไม่มีโทษก็หามิได้

จงระลึกถึงวันสับบาโตถือเป็น จงถือวันสับบาโต 3. วันพระเจ้าอย่าลืม
วันบริสุทธิ์ จงทำการงานทั้งสิ้น เป็นวันบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ ฉลองเป็นวัน
เพื่อชำระตนให้บริสุทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์
วันของเจ้าหกวัน แต่วันนั้น อย่าทำ
การงานใด ๆ ไม่ว่าเจ้าเอง
หรือบุตรชาย บุตรหญิงของเจ้า
หรือทาส ทาสีของเจ้า หรือสัตว์ใช้งาน
ของเจ้า หรือแขกที่อาศัยอยู่ในประตูเมืองของเจ้า
เพราะในหกวันพระเจ้าทรงสร้างฟ้า
และแผ่นดิน ทะเลและสรรพสิ่งซึ่งมีอยู่ในที่
เหล่านั้น แต่ในวันที่เจ็ดทรงพัก
เพราะฉะนั้นพระเจ้าทรงอวยพรวันสับบาโต
และทรงตั้งวันนั้น

จงให้เกียรติแก่บิดามารดาของเจ้า จงให้เกียรติแก่บิดามารดา 4. จงนับถือบิดา
เพื่ออายุของเจ้าจะได้ยืนนานบนแผ่นดิน ของเจ้า มารดา
ซึ่งพระเจ้าของประทานให้แก่เจ้า

อย่าฆ่าคน อย่าฆ่าคน 5. อย่าฆ่าคน

อย่าล่วงประเวณีผัวเมียเขา อย่าล่วงประเวณีผัวเมียเขา 6. อย่าทำอุลามก

อย่าลักทรัพย์ อย่าลักทรัพย์ 7. อย่าลักขโมย

อย่าเป็นพยานเท็จใส่ร้ายเพื่อนบ้าน อย่าเป็นพยานเท็จใส่ร้าย 8. อย่าใส่ความ
เพื่อนบ้าน นินทา

อย่าโลภภรรยาของเพื่อนบ้าน อย่าโลภภรรยาของเพื่อนบ้าน 9. อย่าปลงใจใน
และของคนอื่น ความอุลามก

อย่าโลภครัวเรือนของเพื่อนบ้าน อย่ามักได้สิ่งของซึ่งเป็น 10. อย่ามักได้ทรัพย์
หรือทาส ทาสีของเขาหรือสิ่งใด ๆ ของเพื่อนบ้าน ของเขา
ซึ่งเป็นของของเพื่อนบ้าน

พระบัญญัติสิบประการนี้ยืนยันถึงการปฏิบัติความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ โดยพระบัญญัติสามประการแรกเกี่ยวกับความรักต่อพระเจ้าเป็นสำคัญ และพระบัญญัติอีกเจ็ดประการอื่น ๆ เกี่ยวข้องกับความรักต่อเพื่อนมนุษย์ (CCC, 1994: 2067) ถือเป็นหน้าที่ขั้นพื้นฐานของมนุษย์ต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ หรือเป็นหลักการพื้นฐาน หรือ “กฎธรรมชาติ” ที่มนุษย์พึงปฏิบัติในวิถีชีวิตของตน

ค. ความหมายของพระบัญญัติประการต่าง ๆ

มุขนายก ยอด พิมพิสาร ได้แปลและเรียบเรียงเอกสารที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการอธิบายความหมายของพระบัญญัติประการต่างๆ สรุปได้ดังนี้ (1998: 121 – 123)

- พระบัญญัติประการที่หนึ่ง : จงนมัสการพระเป็นเจ้าผู้เดียวของเจ้า
หมายความว่า ไม่ควรมีสิ่งใดและบุคคลใดที่มีความหมายต่อชีวิตของเรามากกว่าพระเจ้า ต้องไม่ไว้วางใจสิ่งใดหรือผู้ใดมากกว่าพระองค์ ต้องเชื่อมั่นในพระองค์ในทุกสิ่งและนมัสการสรรเสริญพระเจ้าแต่เพียงผู้เดียว รวมถึงการห้ามไปบนบาน การไปเข้าเจ้า เข้าทรงและการหาหมอดูเพื่ออยากรู้อนาคต (สะท้อนถึงการไม่ไว้วางใจในพระเจ้า)

- พระบัญญัติประการที่สอง : อย่าออกนามพระเจ้าโดยไม่สมเหตุ

หมายถึงการเทิดเกียรติพระนามของพระเจ้า ต้องทำตนให้เป็นประจักษ์พยานแด่พระนามพระเจ้าและป่าวประกาศพระนามของพระองค์อย่างสมเกียรติ ต้องไม่กล่าวถึงพระเจ้าในแบบปราศจากความเคารพนับถือหรือนำไปใช้โดยไร้เหตุผล (เช่น นำมาสาบานว่า สิ่งทีพูดเป็นความจริง ทั้งที่เป็นความเท็จ)

- พระบัญญัติประการที่สาม : วันพระเจ้าอย่าลืมฉลองเป็นวันศักดิ์สิทธิ์

หมายถึงการให้ความสำคัญแก่วันพระเจ้า (วันอาทิตย์) สำหรับการหยุดการทำงานเพื่อพักผ่อน หรือจัดสรรเวลาและบรรยากาศอย่างเหมาะสม เพื่อจะได้มีเวลาสำหรับการนมัสการสรรเสริญพระเจ้า โดยเฉพาะการไปร่วมฉลองพิธีบูชาขอบพระคุณวันอาทิตย์ที่วัด ร่วมกับกลุ่มคริสตชน

- พระบัญญัติประการที่สี่ : จงนับถือบิดามารดา

หมายความว่า ให้เคารพรักบิดามารดา (รวมถึงญาติผู้ใหญ่และผู้มีพระคุณ) และอยู่กับพวกท่านอย่างสันติ โดยไม่ลืมว่าพวกท่านได้เลี้ยงดูอบรมและเป็นหนี้บุญคุณพวกท่าน ให้ความเคารพนบนอบในสิ่งที่พวกท่านพูด อยู่เคียงข้าง อย่าทอดทิ้งพวกท่านโดยเฉพาะในยามแก่ชราและเจ็บป่วย

- พระบัญญัติประการที่ห้า : อย่าฆ่าคน

หมายความว่า อย่าปล่อยให้ตัวเราอยู่ภายใต้ความครอบงำของความโกรธหรืออิจฉา อย่าทำตนเป็นศัตรูกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ให้รักษาสุขภาพของตนอย่างดี ไม่เสพสิ่งไม่ดีและบ่อนทำลายสุขภาพของตน ยืนหยัดเพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานของชีวิตแต่ละคน รวมทั้งทารกที่ยังไม่เกิด ปกป้องสิทธิของทุกคน (แม้แต่ทารกในครรภ์มารดา ซึ่งถือว่าเป็นมนุษย์แล้ว) ช่วยชีวิตผู้อื่นที่กำลังได้รับอันตราย ผู้หิวโหย ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความหายนะ ผู้เจ็บป่วยและอ่อนแอ ให้ต่อต้านสงครามและพยายามสร้างสันติสุขในแผ่นดิน

- พระบัญญัติประการที่หกและเก้า : อย่าทำอุลามก และอย่าปลงใจในความอุลามก

พระบัญญัติประการที่หกและเก้า มีเนื้อหาสาระที่เกี่ยวเนื่องกันเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตครอบครัวอย่างถูกต้อง หมายความว่า ให้ยอมรับว่าความรักระหว่างชายหญิงจะต้องแสดงออกด้วยความจริงใจและซื่อสัตย์ในการอยู่ร่วมกันตลอดชีวิต ภายใต้พันธะของการแต่งงานที่ถูกต้อง (แบบคริสตชนโดยผ่านการรับรองและพิธีแต่งงานที่ถูกต้อง) ความสัมพันธ์ในครอบครัวต้องมีพื้นฐานอยู่บนความรัก การเห็นอกเห็นใจ ไม่พยายามใช้อำนาจขมขู่หรือทำร้ายคู่ชีวิต ไม่ล่อลวงให้ผู้อื่นกระทำผิดต่อคู่สมรสของเขาหรือตัวเองเป็นผู้กระทำผิดเสียเอง ปฏิบัติต่อคนอื่นในแบบให้เกียรติ ให้ความเคารพในตัวบุคคลในฐานะที่เป็นมนุษย์

- พระบัญญัติประการที่เจ็ดและสิบ : อย่าลักขโมยและอย่ามักได้ทรัพย์ของเขา

พระบัญญัติประการที่เจ็ดและสิบมีความหมายสืบเนื่องกัน หมายความว่า ต้องเคารพในสิทธิของมนุษย์ที่จะเป็นเจ้าของครอบครองกรรมสิทธิ์ พยายามบังคับตนเองไม่ให้ตกเป็นทาสของความโลภ ความอยากได้ ความไม่พอใจหรือทำลายทรัพย์สินของคนอื่น ไม่คดโกง ไม่คิดดอกเบี้ยที่สูงเกินควร ไม่เก็บสิ่งที่เก็บได้ไว้เป็นของตนเอง ให้คืนสิ่งที่ยืมเขามา ไม่ทำลายทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่คดโกงค่าแรงงาน ไม่หัวเราะเยาะเย้ยเมื่อเขาประสบเหตุที่ไม่ดี ให้แบ่งปันกับผู้อื่น ให้ช่วยคนยากจน

- พระบัญญัติประการที่แปด : อย่าใส่ความนินทา

หมายความว่า ต้องพูดความจริง ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองพูด ไม่โอ้อวดหรือพยายามทำตัวว่าตนเองมีความสำคัญ อย่าบิดเบือนความจริง อย่าทำผิดต่อเกียรติยศของผู้อื่น อย่าทำลายชื่อเสียงของผู้อื่นด้วยการครหานินทา อย่าปล่อยให้ตัวเราถูกใช้ในการใส่ร้ายผู้อื่น ให้เก็บรักษาความลับตามจรรยาบรรณและเก็บเรื่องความลับไว้กับตัวเอง ไม่เป็นพยานเท็จในศาล ขอให้เป็นประจักษ์พยานตามความจริง

2.3.3 พระบัญญัติ/แนวปฏิบัติอื่น ๆ ของพระศาสนจักร

นอกจากพระบัญญัติสิบประการ ซึ่งถือเป็นหลักการพื้นฐานการดำเนินชีวิตคริสตชนแล้ว พระศาสนจักรยังได้กำหนดให้มี “บัญญัติของพระศาสนจักร” รวมทั้งแนวปฏิบัติปลีกย่อยอื่น ๆ เพื่อช่วยเสริมสร้างให้คริสตชนมีแนวทางที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น เพื่อการดำเนินชีวิตเป็น “หมู่คณะคริสตชน” ที่เป็นหนึ่งเดียวกัน พระบัญญัติของพระศาสนจักรที่สำคัญได้แก่

1) จงร่วมบูชาขอบพระคุณและอย่าทำงานวันอาทิตย์และวันฉลองบังคับ

เป็นการให้ความสำคัญแก่การเฉลิมฉลองวันพระเจ้า (วันอาทิตย์) โดยให้ไปร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณในวันอาทิตย์และวันฉลองบังคับ เพื่อคริสตชนจะได้เป็นหนึ่งเดียวกันในการสรรเสริญพระเจ้าและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างคริสตชนด้วยกัน

2) จงอดอาหารและอดเนื้อในวันบังคับ

เป็นการส่งเสริมให้คริสตชนเอาชนะตนเอง เพื่อร่วมส่วนในพระทรมานของพระเยซูคริสตเจ้า โดยเฉพาะในวันพุธรับเถ้า (วันเริ่มต้นเทศกาลมหาพรต) และวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ (ระลึกถึงวันที่พระเยซูคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์) การอดอาหารและอดเนื้อครอบคลุมถึงการลดละกิจการบันเทิงต่าง ๆ เพื่อจะได้ช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน

3) จงรับศีลอภัยบาปอย่างน้อยปีละครั้ง และรับศีลมหาสนิทอย่างน้อยปีละครั้งในกำหนดปัสกา

เป็นการกำหนด “เกณฑ์ขั้นต่ำ” เพื่อให้พระเจ้าได้เข้ามาในจิตใจคริสตชน โดยทางศีลอภัยบาปและการรับพระเยซูคริสตเจ้าในศีลมหาสนิท

4) จงบำรุงพระศาสนจักรตามความสามารถ

เป็นการสนับสนุนกิจการของพระศาสนจักร รวมทั้งชุมชนคริสตชนที่ตนสังกัดอยู่ เพื่อความต้องการของชุมชนและการประกาศเผยแผ่ศาสนา

3. สรุป

คริสตชนมีแนวคิดว่ามนุษย์เป็นผู้มีศักดิ์ศรีในฐานะเป็นฉาพลักษณ์ของพระเจ้า พระองค์ประทานศักยภาพให้มนุษย์สามารถบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ (ความรอดพ้น) ในพระองค์ได้ โดยร่วมมือกับพระเจ้าในการพัฒนาคุณค่าชีวิต อาศัยสติปัญญา ความสำนึกทางมโนธรรมและเสรีภาพ โดยดำเนินชีวิตร่วมกับคนอื่นในสังคม แม้ในประวัติศาสตร์ มนุษย์จะบกพร่องด้วยการเลือกที่จะตัดความสัมพันธ์กับพระเจ้า แต่พระเจ้าก็ยังทรงเมตตาประทานความช่วยเหลือให้มนุษย์กลับสู่สภาวะที่สามารถบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระองค์ อาศัยการช่วยให้รอดของพระเจ้าทางพระเยซูคริสตเจ้า และพระองค์ทรงโปรดประทานแนวทาง (กฎเกณฑ์) และทรงประทานพระพร (พระหรรษทาน) คอยช่วยเหลือมนุษย์เสมอ มนุษย์ได้กลับกลายเป็นมนุษย์ใหม่ทางพระเยซูคริสตเจ้า กลับสู่การมีความสัมพันธ์ที่ดี จนสามารถบรรลุถึงพระเจ้าได้ มนุษย์สามารถรอดพ้นจากบาปและความตาย ความสามารถในการบรรลุถึงพระเจ้าที่มนุษย์ได้รับผ่านทางพระเยซูคริสตเจ้านี้ ไม่ได้มีจุดเริ่มต้นจากมนุษย์ กล่าวคือ ไม่ได้มาจากการที่มนุษย์ปฏิบัติตนตามกฎเกณฑ์ของธรรมบัญญัติตามตัวอักษร ไม่มีมนุษย์คนใดจะได้รับความรอดพ้นพ้นเพียงแค่การปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ ความรอดพ้นพ้นไม่ได้มาจากความสามารถของมนุษย์ แต่เป็นพระกรุณาที่พระเจ้ามอบให้มนุษย์ผ่านทางพระเยซูคริสตเจ้า มนุษย์มีหน้าที่ตอบรับด้วยความเชื่อในพระเจ้าและในพระเยซูคริสตเจ้า โดยการทุ่มเทชีวิตของตน ด้วยเสรีภาพที่พระเจ้าประทานให้ มุ่งสู่การเปิดตนเองเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้าพร้อมกับเพื่อนมนุษย์อื่น ๆ (วุฒิชัย อ่องนาวา, 2548: 31)

แม้คริสตชนจะมีแนวทางปฏิบัติ เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ในรูปแบบของพิธีกรรมและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ แต่คริสตชนสำนึกว่าวิถีชีวิตคริสตชนในการปฏิบัติคารวกิจพิธีกรรมและการน้อมรับและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้เป็น “คู่มือ/เครื่องมือ” ที่พระเจ้าประทานให้เพื่อเป็นแนวปฏิบัติสู่ความรอดพ้น พิธีกรรมและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ จึงเป็น “บัญญัติแห่งความรัก” ที่พระเจ้าประทานให้เพราะความรักที่ทรงมีต่อมนุษย์ โดยมีพระหรรษทาน (พระพร) ของพระเจ้าช่วยให้มนุษย์เห็นคุณค่าและความหมายของชีวิต พยายามดำเนินชีวิตอย่างซื่อสัตย์ต่อแนวทางของพระเจ้า ด้วยการตอบรับในการดำเนินชีวตามแนวทางของพระองค์ และอาศัยพระพรจากพระเจ้าจะช่วยให้มนุษย์บรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระองค์